(๑) อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้แหละ คือ ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
(๒) อริยมรรค มีองค์ ๘ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ (ปัญญาอันเห็นชอบ)
๒. สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (การเจรจาชอบ)
๔. สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ)
๗. สัมมาสติ (ความรำลึกชอบ)
๘. สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ)
ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น สัมมาทิฏฐิ เป็นไฉน
- ความรู้ในทุกข์
- ความรู้ในทุกขสมุทัย
- ความรู้ในทุกขนิโรธ
- ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
นี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน
- ความดำริในอันออกจากกาม
- ความดำริในอันไม่พยาบาท
- ความดำริในอันไม่เบียดเบียน
นี้เรียกว่าสัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา เป็นไฉน
- ความงดเว้นจากการพูดเท็จ
- ความงดเว้นจากการพูดส่อเสียด
- ความงดเว้นจากการพูดหยาบ
- ความงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
นี้เรียกว่าสัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน
- ความงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
- ความงดเว้นจากการลักทรัพย์
- ความงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
นี้เรียกว่าสัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน
บุคคลผู้อริยสาวกในศาสนานี้ ละมิจฉาอาชีวะแล้ว เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ
นี้เรียกว่าสัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ เป็นไฉน
- ภิกษุในศาสนานี้ ทำฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ทำความเพียร เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นมิให้เกิดขึ้น
- ทำฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ทำความเพียร เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
- ทำฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียรประคองจิตไว้ ทำความเพียร เพื่อสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น
- ทำฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ทำความเพียร เพื่อความดำรงมั่น ความไม่สาบสูญ ความภิญโยยิ่ง ความไพบูลย์ ความเจริญ ความบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ
สัมมาสติ เป็นไฉน
- ภิกษุในศาสนานี้ พิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก
- พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก
- พิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก
- พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก
นี้เรียกว่า สัมมาสติ
สัมมาสมาธิ เป็นไฉน
- ภิกษุในศาสนานี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตก วิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่
- บรรลุทุติยฌาน อันยังใจให้ผ่องใสเพราะวิตกวิจารสงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้นภายในไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแก่สมาธิอยู่
- เพราะคลายปีติได้อีกด้วย จึงเป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานซึ่งเป็นฌานที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า เป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข ดังนี้ อยู่
- บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ
(๓) อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะ
อริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓ คือ
วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ สงเคราะห์ด้วยศีลขันธ์
ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งจิตไว้ชอบ สงเคราะห์ด้วยสมาธิขันธ์
ปัญญาชอบ ความดำริชอบ สงเคราะห์ด้วยปัญญาขันธ์.
(๔) อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นมรรค เป็นปฏิปทาเพื่อ
- กระทำนิพพานให้แจ้ง
- กระทำอรหัตให้แจ้ง
- เพื่อละราคะ โทสะ โมหะ
- เพื่อกำหนดรู้ ทุกข์
- เพื่อกระทำความโล่งใจให้แจ้ง
- เพื่อกระทำความโล่งใจอย่างยิ่งนั้นให้แจ้ง
- เพื่อกำหนดรู้ เวทนา ๓ อย่าง
- เพื่อละอาสวะ
- เพื่อละอวิชชา
- เพื่อละตัณหา
- เพื่อละโอฆะ
- เพื่อละอุปาทาน
- เพื่อกำหนดรู้ภพ
- เพื่อกำหนดรู้สภาพทุกข์
- เพื่อกำหนดรู้สักกายะ
(๕) มรรคเกิดอย่างไร
- สัมมาทิฐิด้วยอรรถว่าเห็น เป็น มรรคย่อมเกิด
- สัมมาสังกัปปะด้วยอรรถว่าดำริ เป็น มรรคย่อมเกิด
- สัมมาวาจาด้วยอรรถว่ากำหนด เป็น มรรคย่อมเกิด
- สัมมากัมมันตะด้วยอรรถว่าเป็นสมุฏฐาน เป็น มรรคย่อมเกิด
- สัมมาอาชีวะด้วยอรรถว่าผ่องแผ้ว เป็น มรรคย่อมเกิด
- สัมมาวายามะ ด้วยอรรถว่าประคองไว้ เป็น มรรคย่อมเกิด
- สัมมาสติด้วยอรรถว่าตั้งมั่น เป็น มรรคย่อมเกิด
- สัมมาสมาธิด้วยอรรถว่าไม่ฟุ้งซ่าน เป็น มรรคย่อมเกิด
(๖) เมื่อบุคคลนั้นเจริญอัฏฐังคิกมรรค (มรรค ๙) อันประเสริฐนี้อยู่อย่างนี้ ชื่อว่ามีสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ถึงความเจริญบริบูรณ์ บุคคลนั้นย่อมมีธรรมทั้งสอง คือสมถะและวิปัสสนาคู่เคียงกันเป็นไป
เขาชื่อว่ากำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ละธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง เจริญธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง