แสงญาณ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มนสิการอาโลกสัญญา (สัญญาว่าแสงสว่าง)
ตั้งสัญญาว่าเป็นเวลากลางวันไว้
กลางวันอย่างใด กลางคืนอย่างนั้น
กลางคืนอย่างใด กลางวันอย่างนั้น
มีใจอันสงัด ปราศจากเครื่องรัดรึง
อบรมจิตให้มีความสว่างอยู่
สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ


สมาธิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๑/๔๑/๔๔

ปัญญาเห็นรูปเป็นนิมิตด้วยอำนาจแสงสว่างเป็นทิพยจักษุญาณ

ปัญญาในความเห็นรูปเป็นนิมิตหลายอย่างหรืออย่างเดียว ด้วยสามารถแสงสว่าง เป็นทิพยจักษุญาณอย่างไร

ภิกษุในศาสนานี้
เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยสมาธิ
ยิ่งด้วยฉันทะและปธานสังขาร
ยิ่งด้วยวิริยะและปธานสังขาร
ยิ่งด้วยจิตตะและปธานสังขาร
ยิ่งด้วยวิมังสาและปธานสังขาร

ครั้นแล้ว ย่อมมนสิการถึงอาโลกสัญญา ตั้งสัญญาว่าเป็นกลางวัน
มีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ
เจริญจิตให้มีแสงสว่างว่า
กลางวันฉันใด กลางคืนฉันนั้น
กลางคืนฉันใด กลางวันฉันนั้น

ภิกษุนั้นมีจิตอันอบรมแล้วอย่างนั้น บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณในจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย

เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์

ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้หนอ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการ ฉะนี้

ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น
ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด

เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
ปัญญาในความเห็นรูปเป็นนิมิตหลายอย่างหรืออย่างเดียว ด้วยสามารถแสงสว่าง เป็นทิพยจักษุญาณ


ปฏิสัมภิทามรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๓๑/๒๕๗/๙๒-๙๓

ก็ภิกษุมีความสำคัญอยู่ว่า กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น
กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น อย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารในกลางวันด้วยอาการเหล่าใด ด้วยเพศเหล่าใด ด้วยนิมิตเหล่าใด เธอย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารในกลางคืน ด้วยอาการเหล่านั้น ด้วยเพศเหล่านั้น ด้วยนิมิตเหล่านั้น

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารในกลางคืนด้วยอาการเหล่าใด ด้วยเพศเหล่าใด ด้วยนิมิตเหล่าใด เธอย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารในกลางวัน ด้วยอาการเหล่านั้น ด้วยเพศเหล่านั้น ด้วยนิมิตเหล่านั้น

ภิกษุมีความสำคัญอยู่ว่า
กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น
กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น อย่างนี้แล

ก็ภิกษุมีจิตเปิดเผย
ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่อย่างไร

อาโลกสัญญา (ความสำคัญว่าแสงสว่าง) อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยึดไว้ดีแล้ว
ความสำคัญว่ากลางวัน ตั้งมั่นดีแล้ว

ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่อย่างนี้แล


วิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๑๙/๑๑๘๐-๑๒๐๒/๒๘๘-๒๙๐

แสงสว่างและรูปหายไป

อนุรุทธะ
ก็พวกเธอผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมมีคุณวิเศษคือ ญาณทัสสนะอันประเสริฐ สามารถกว่าธรรมของมนุษย์อันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่สบายอันได้บรรลุแล้วหรือ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พวกข้าพระองค์ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ ย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูป แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของพวกข้าพระองค์ ย่อมหายไปได้ พวกข้าพระองค์ยังไม่แทงตลอดนิมิตนั้น

ดูกรอนุรุทธะ
พวกเธอต้องแทงตลอดนิมิตนั้นแล

เหตุให้แสงสว่างและรูปหายไป

แม้เราก็เคยมาแล้ว
เมื่อก่อนตรัสรู้ ยังไม่รู้เองด้วยปัญญาอันยิ่ง ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูปเหมือนกัน แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของเราย่อมหายไปได้

เราจึงมีความดำริว่า
อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้แสงสว่างและการเห็นรูปหายไปได้

เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า

เครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
วิจิกิจฉา
อมนสิการ
ถีนมิทธะ
ความหวาดเสียว
ความตื่นเต้น
ความชั่วหยาบ
ความเพียรที่ปรารภเกินไป
ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป
ตัณหาที่คอยกระซิบ
ความสำคัญสภาวะว่าต่างกัน
ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไป

เกิดขึ้นแล้วแก่เรา


ก็เครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองเป็นเหตุ
สมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว
แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
เราจักไม่ทำให้เครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง เกิดขึ้นแก่เราได้อีก

ละเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง

เรานั้นแลรู้ว่า
วิจิกิจฉา เป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละวิจิกิจฉาเสียได้

รู้ว่า อมนสิการ
เป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละอมนสิการเสียได้

รู้ว่า ถีนมิทธะ
เป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละถีนมิทธะเสียได้

รู้ว่า ความหวาดเสียว
เป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละความหวาดเสียวเสียได้

รู้ว่า ความตื่นเต้น
เป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละความตื่นเต้นเสียได้

รู้ว่า ความชั่วหยาบ
เป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละความชั่วหยาบเสียได้

รู้ว่า
ความเพียรที่ปรารภเกินไป
เป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละความเพียรที่ปรารภเกินไปตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้

รู้ว่า
ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป
เป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปเสียได้

รู้ว่า
ตัณหาที่คอยกระซิบ
เป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละตัณหาที่คอยกระซิบเสียได้

รู้ว่า
ความสำคัญสภาวะว่าต่างกัน
เป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละความสำคัญสภาวะว่าต่างกันเสียได้

รู้ว่า
ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไป
เป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปเสียได้

รู้สึกถึงแสงสว่าง แต่ไม่เห็นรูป เห็นรูปอย่างเดียว ไม่รู้สึกแสงสว่าง

เราเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ ย่อมรู้สึกแสงสว่างอย่างเดียวแต่ไม่เห็นรูป เห็นรูปอย่างเดียว แต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง

เรานั้นมีความดำริว่า
อะไรหนอแลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้เรารู้สึกแสงสว่างอย่างเดียว แต่ไม่เห็นรูป เห็นรูปอย่างเดียว แต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง

เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า

สมัยใด เราไม่ใส่ใจนิมิตคือรูป
ใส่ใจแต่นิมิตคือแสงสว่าง
สมัยนั้น เราย่อมรู้สึกแสงสว่างอย่างเดียว แต่ไม่เห็นรูป

ส่วนสมัยใด เราไม่ใส่ใจนิมิตคือแสงสว่าง ใส่ใจแต่นิมิตคือรูป
สมัยนั้น เราย่อมเห็นรูปอย่างเดียว แต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง


รู้สึกแสงสว่างนิดหน่อย เห็นรูปนิดหน่อย
รู้สึกแสงสว่างหาประมาณมิได้ เห็นรูปหาประมาณมิได้

เรานั้นเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ ย่อมรู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อย เห็นรูปได้นิดหน่อย และรู้สึกแสงสว่างอย่างหาประมาณมิได้ เห็นรูปอย่างหาประมาณมิได้ ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง

เราจึงมีความดำริว่า
อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ให้เรารู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อย เห็นรูปได้นิดหน่อย และรู้สึกแสงสว่างอย่างหาประมาณมิได้ เห็นรูปอย่างหาประมาณมิได้

เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า


สมัยใด เรามีสมาธินิดหน่อย
สมัยนั้น ก็มีจักษุนิดหน่อย
ด้วยจักษุนิดหน่อย เรานั้นจึงรู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อย เห็นรูปได้นิดหน่อย

ส่วนสมัยใด เรามีสมาธิหาประมาณมิได้
สมัยนั้น ก็ทรงมีจักษุหาประมาณมิได้
ด้วยจักษุหาประมาณมิได้ เรานั้นจึงรู้สึกแสงสว่างหาประมาณมิได้ และเห็นรูปหาประมาณมิได้

เจริญสมาธิโดยสามส่วน

เพราะเรารู้ว่า
วิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ ความหวาดเสียว ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกินไป ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ตัณหาที่คอยกระซิบ ความสำคัญสภาวะว่าต่างกัน และลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไป
เป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว

เป็นอันเราละตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้

เรานั้นจึงได้มีความรู้ดังนี้ว่า
เครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองนั้น ๆ ของเรา เราละได้แล้ว

ดังนั้น
เราจึงเจริญสมาธิโดยส่วนสามได้ในบัดนี้

(รู้ ละ ละได้แล้ว)
เรานั้นได้เจริญสมาธิมีวิตก มีวิจารบ้าง
ได้เจริญสมาธิไม่มีวิตก มีแต่วิจารบ้าง
ได้เจริญสมาธิไม่มีวิตก ไม่มีวิจารบ้าง
ได้เจริญสมาธิมีปีติบ้าง
ได้เจริญสมาธิไม่มีปีติบ้าง
ได้เจริญสมาธิสหรคตด้วยสุขบ้าง
ได้เจริญสมาธิสหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง

เพราะสมาธิชนิดที่มีวิตกมีวิจารบ้าง
ชนิดที่ไม่มีวิตกมีแต่วิจารบ้าง
ชนิดที่ไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง
ชนิดที่มีปีติบ้าง
ชนิดที่ไม่มีปีติบ้าง
ชนิดที่สหรคตด้วยสุขบ้าง
ชนิดที่สหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง
เป็นอันเราเจริญแล้ว

ฉะนั้นแล ความรู้ความเห็นจึงได้เกิดขึ้นแก่เราว่า
วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติที่สุด บัดนี้ความเกิดใหม่ย่อมไม่มี



อุปปักกิเลสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๑๔/๔๕๑-๔๖๖/๒๓๓-๒๓๙

ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง ฯลฯ ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมาก บ้าง เรานั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ

วิชชาที่หนึ่งนี้แล
เราบรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี
เรากำจัดอวิชชาเสียแล้ว วิชชาจึงบังเกิดขึ้น กำจัดความมืดเสียแล้ว ความสว่างจึงบังเกิดขึ้น ก็เพราะเราไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตนไปอยู่

จุตูปปาตญาณ

เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้วไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว

เราจึงโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เรานั้นย่อมเห็นสัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วง จักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม

วิชชาที่สองนี้แล
เราบรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี
เรากำจัดอวิชชาเสียแล้ว วิชชาจึงบังเกิดขึ้น กำจัดความมืดเสียแล้ว ความสว่างจึงเกิดขึ้น ก็เพราะเราไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตนไปอยู่

อาสวักขยญาณ

เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควร แก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ จึงโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ
ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
นี้ทุกข์
นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

เหล่านี้อาสวะ
นี้อาสวสมุทัย
นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา
เมื่อเรานั้นรู้เห็นอย่างนี้ จิตจึงหลุดพ้นแล้ว แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้

วิชชาที่สามนี้แล
เราบรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี
เรากำจัดอวิชชาเสียแล้ว วิชชาจึงบังเกิดขึ้น กำจัดความมืดเสียแล้ว ความสว่างจึงบังเกิดขึ้น ก็เพราะเราไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลสส่งตนไปอยู่ ฉะนั้น


เทวธาวิตักกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๑๒/๒๕๓/๑๖๓-๑๖๔

ญาณทัสสนะอันประเสริฐ เวียนรอบ ๘

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังมิได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่

เราจำได้ซึ่งโอภาส (แสงสว่าง) แต่ไม่เห็นรูปทั้งหลาย

เราจึงมีความคิดดังนี้ว่า
ถ้าเราพึงจำได้แม้ซึ่งโอภาส และพึงเห็นรูปทั้งหลาย ด้วยอาการอย่างนี้ ญาณทัสสนะนี้ของเราก็จะพึงบริสุทธิ์กว่า

สมัยต่อมา เรานั้นเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
ย่อมจำได้ซึ่งโอภาส และเห็นรูปทั้งหลาย แต่เราไม่ได้ยืนเจรจาปราศรัยกับเทวดาเหล่านั้น

เราจึงมีความคิดดังนี้ว่า
ถ้าเราจำโอภาสได้ เห็นรูปทั้งหลาย และยืนเจรจาปราศรัยกับเทวดาเหล่านั้น ด้วยอาการอย่างนี้ ญาณทัสสนะนี้ ของเราก็จะพึงบริสุทธิ์ดีกว่า

สมัยต่อมา เรานั้นเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่
ย่อมจำได้ซึ่งโอภาส เห็นรูปทั้งหลาย และได้ยืนเจรจาปราศรัยกับเทวดาเหล่านั้น แต่ไม่รู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า เทวดาเหล่านี้มาจากชั้นโน้นหรือชั้นโน้น

เรานั้นจึงคิดเห็นต่อไปว่า
หากเราพึงจำโอภาส เห็นรูปทั้งหลาย ยืนเจรจาปราศรัยกับเทวดาเหล่านั้น และรู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า เทวดาเหล่านี้มาจากชั้นโน้นหรือชั้นโน้น ด้วยอาการอย่างนี้ ญาณทัสสนะนี้ของเราก็จะพึงบริสุทธิ์กว่า

สมัยต่อมา เรานั้นเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ย่อมจำได้ซึ่งโอภาส เห็นรูปทั้งหลาย ยืนเจรจาปราศรัยกับเทวดาเหล่านั้น และรู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า เทวดาเหล่านั้นมาจากเทพนิกายชั้นโน้นหรือชั้นโน้น แต่ก็ยังไม่รู้เทวดาเหล่านั้นว่า ด้วยวิบากแห่งกรรมนี้ เทวดาเหล่านี้เคลื่อนจากชั้นนี้แล้วไปเกิดในชั้นนั้น

ถึงจะรู้เทวดาเหล่านั้นว่า ด้วยวิบากแห่งกรรมนี้ เทวดาเหล่านี้เคลื่อนจากชั้นนี้แล้วไปเกิดในชั้นนั้น แต่ก็ไม่รู้เทวดาเหล่านั้นว่า ด้วยวิบากแห่งกรรมนี้ เทวดาเหล่านี้มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนี้

ถึงจะรู้เทวดาเหล่านั้นว่า เทวดาเหล่านี้มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนี้ แต่ก็ไม่รู้เทวดาเหล่านั้นว่า เทวดาเหล่านี้มีอายุยืนอย่างนี้ ตั้งอยู่นานอย่างนี้

ถึงจะรู้เทวดาเหล่านั้นว่า เทวดาเหล่านี้มีอายุยืนอย่างนี้ ตั้งอยู่นานอย่างนี้ แต่ก็ไม่รู้เทวดาเหล่านั้นว่า เราเคยอยู่ร่วมหรือไม่เคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านี้

เรานั้นจึงคิดเห็นดังนี้ว่า
หากเราพึงจำโอภาส
เห็นรูปทั้งหลาย ยืนเจรจาปราศรัยกับเทวดาเหล่านั้น
พึงรู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า เทวดาเหล่านี้มาจากเทพนิกายชั้นโน้นหรือชั้นโน้น
พึงรู้เทวดาเหล่านั้นว่า ด้วยวิบากแห่งกรรมนี้ เทวดาเหล่านี้เคลื่อนจากชั้นนี้แล้วไปเกิดในชั้นนั้น
พึงรู้เทวดาเหล่านั้นว่า เทวดาเหล่านี้มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนี้
พึงรู้เทวดาเหล่านั้นว่า เทวดาเหล่านี้มีอายุยืนอย่างนี้ ตั้งอยู่นานอย่างนี้
และพึงรู้เทวดาเหล่านั้นว่า เราเคยอยู่ร่วมหรือไม่เคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านี้
ด้วยอาการอย่างนี้ ญาณทัสสนะนี้ของเรา พึงบริสุทธิ์ดีกว่า

สมัยต่อมา เรานั้นเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
ย่อมจำโอภาสได้
เห็นรูปทั้งหลาย
ยืนเจรจาปราศรัยกับเทวดาเหล่านั้น
รู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า เทวดาเหล่านี้มาจากเทพนิกายชั้นโน้นหรือชั้นโน้น
ด้วยวิบากแห่งกรรมนี้ เทวดาเหล่านี้เคลื่อนจากชั้นนี้แล้วไปเกิดในชั้นนั้น
รู้เทวดาเหล่านั้นว่าเทวดาเหล่านี้มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนี้
เทวดาเหล่านี้มีอายุยืนอย่างนี้ ตั้งอยู่นานอย่างนี้
และรู้เทวดาเหล่านั้นว่า เราเคยอยู่ร่วมหรือไม่เคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ญาณทัสสนะอันประเสริฐยิ่ง เวียน ๘ รอบอย่างนี้ของเรายังไม่บริสุทธิ์เพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณว่า ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ เพียงนั้น

แต่เมื่อใด ญาณทัสสนะอันประเสริฐยิ่ง เวียน ๘ รอบอย่างนี้ของเราบริสุทธิ์ดีแล้ว เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณว่า ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์

ก็แล ญาณทัสสนะได้เกิดขึ้นแก่เราว่า
เจโตวิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้มีในที่สุด บัดนี้ภพใหม่ต่อไปไม่มี


คยาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๓/๑๖๑/๒๓๙-๒๔๑

แสงญาณในอริยสัจ ๔

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า
นี้ทุกขอริยสัจ
ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้
ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า
นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ
ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล ควรละเสีย
ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล เราได้ละแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า
นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ
ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้แจ้ง
ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล เราทำให้แจ้งแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล ควรให้เจริญ
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล เราให้เจริญแล้ว


ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๔/๑๕/๑๗