(๑) อาสวะ ๓ คือ
กามาสวะ - อาสวะเป็นเหตุอยากได้
ภวาสวะ - อาสวะเป็นเหตุอยากเป็น
อวิชชาสวะ - อาสวะคือความเขลา
(๒) อาสวะ ๔ คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ
กามาสวะ เป็นไฉน
ความพอใจคือความใคร่ ความกำหนัดคือความใคร่ ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ตัณหาคือความใคร่ สิเนหาคือความใคร่ ความเร่าร้อนคือความใคร่ ความสยบคือความใคร่ ความหมกมุ่นคือความใคร่ ในกามทั้งหลาย อันใด นี้เรียกว่า กามาสวะ.
ภวาสวะ เป็นไฉน
ความพอใจในภพ ความกำหนัดในภพ ความเพลิดเพลินในภพ สิเนหาในภพ ความเร่าร้อนในภพ ความสยบในภพ ความหมกมุ่นในภพ ในภพทั้งหลาย อันใด นี้เรียกว่าภวาสวะ
ทิฏฐาสวะ เป็นไฉน
ความเห็นว่า โลกเที่ยงก็ดี ว่าโลกไม่เที่ยงก็ดี ว่าโลกมีที่สุดก็ดี ว่าโลกไม่มีที่สุดก็ดี ว่าชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้นก็ดี ว่าชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่นก็ดี ว่าสัตว์ยังเป็นอยู่เบื้องหน้า แต่มรณะก็ดี ว่าสัตว์ไม่เป็นอยู่เบื้องหน้าแต่มรณะก็ดี ว่าสัตว์ยังเป็นอยู่ก็มีไม่เป็นอยู่ก็มี เบื้องหน้าแต่มรณะก็ดี ว่าสัตว์ยังเป็นอยู่ก็ไม่ใช่ไม่เป็นอยู่ก็ไม่ใช่เบื้องหน้าแต่มรณะก็ดี
ทิฏฐิ ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สัญโญชน์คือทิฏฐิ ความยึดถือ ความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด นี้เรียกว่า ทิฏฐาสวะ
มิจฉาทิฏฐิ แม้ทั้งหมด จัดเป็นทิฏฐาสวะ
อวิชชาสวะ เป็นไฉน
ความไม่รู้ในทุกข์
ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย
ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ
ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ความไม่รู้ในส่วนอดีต
ความไม่รู้ในส่วนอนาคต
ความไม่รู้ทั้งในส่วนอดีตและส่วนอนาคต
ความไม่รู้ในปฏิจจสมุปปาทธรรมว่า เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัยธรรมนี้จึงเกิดขึ้น
ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้ ความไม่รู้โดยสมควร ความไม่รู้ตามเป็นจริง ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเอาให้ถูกต้อง ความไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ ความไม่พินิจ ความไม่พิจารณา การไม่กระทำให้ประจักษ์ ความทรามปัญญา ความโง่เขลา ความไม่รู้ชัด ความหลง ความลุ่มหลง ความหลงใหล อวิชชา โอฆะคืออวิชชา โยคะคืออวิชชา อนุสัยคืออวิชชา
ปริยุฏฐานคืออวิชชา ลิ่มคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ มีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด นี้เรียกว่าอวิชชาสวะ
สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นอาสวะ
ธรรมไม่เป็นอาสวะ เป็นไฉน
กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรมที่เป็นกามาวจรรูปวาจร อรูปาวจร โลกุตตระ ที่เหลือ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์, รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่เป็นอาสวะ
ธรรมเป็นอารมณ์ของอาสวะ เป็นไฉน
กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม ที่เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร คือ รูปขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นอารมณ์ ของอาสวะ
ธรรมไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ เป็นไฉน
มรรคและผลของมรรคที่เป็นโลกุตตระ และอสังขตธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
ธรรมสัมปยุตด้วยอาสวะ เป็นไฉน
ธรรมเหล่าใด สัมปยุตด้วยอาสวธรรมเหล่านั้น คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมสัมปยุตด้วยอาสวะ
ธรรมวิปปยุตจากอาสวะ เป็นไฉน
ธรรมเหล่าใด วิปปยุตจากอาสวธรรมเหล่านั้น คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์, รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมวิปปยุตจากอาสวะ
ธรรมเป็นอาสวะและเป็นอารมณ์ของอาสวะ เป็นไฉน
อาสวะเหล่านั้นนั่นแล ชื่อว่า ธรรมเป็นอาสวะและเป็นอารมณ์ของอาสวะ
ธรรมเป็นอารมณ์ของอาสวะแต่ไม่เป็นอาสวะ เป็นไฉน
ธรรมเหล่าใดเป็นอารมณ์ของอาสวะโดยอาสวธรรมเหล่านั้น เว้นอาสวธรรมเหล่านั้นเสีย คือ กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม ประเภทที่ยังมีอาสวะที่เหลือ ซึ่งเป็นกามาวจร อรูปาวจร ได้แก่ รูปขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นอารมณ์ของอาสวะแต่ไม่เป็นอาสวะ
ธรรมวิปปยุตจากอาสวะแต่เป็นอารมณ์ของอาสวะ เป็นไฉน
ธรรมเหล่าใดวิปปยุตจากอาสวธรรมเหล่านั้น คือ กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม ประเภทที่ยังมีอาสวะ ซึ่งเป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร ได้แก่ รูปขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมวิปปยุตจากอาสวะแต่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
ธรรมวิปปยุตจากอาสวะและไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ เป็นไฉน
มรรคและผลของมรรคที่เป็นโลกุตตระ และอสังขตธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมวิปปยุตจากอาสวะและไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
(๓) ก็ความต่างแห่งอาสวะเป็นไฉน คือ
อาสวะที่เป็นเหตุให้ไปสู่นรกก็มี ที่เป็นเหตุให้ไปสู่กำเนิดสัตวดิรัจฉานก็มี ที่เป็นเหตุให้ไปสู่เปรตวิสัยก็มี ที่เป็นเหตุให้ไปสู่มนุษย์โลกก็มี ที่เป็นเหตุให้ไปสู่เทวโลกก็มี นี้เรียกว่าความต่างแห่งอาสวะ
ก็วิบากแห่งอาสวะเป็นไฉน คือ
การที่บุคคลมีอวิชชา ย่อมยังอัตภาพที่เกิดจากอวิชชานั้นๆ ให้เกิดขึ้น เป็นส่วนบุญหรือเป็นส่วนมิใช่บุญ นี้เรียกว่าวิบากแห่งอาสวะ
การดับอาสวะ
(๔) เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดซึ่งอาสวะ อาสวสมุทัย อาสวนิโรธ อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความดับอาสวะ ทางที่จะให้ถึงความดับอาสวะ เป็นไฉน
เหตุเกิดแห่งอาสวะย่อมมีเพราะอวิชชาเป็นเหตุให้เกิด ความดับอาสวะย่อมมีเพราะอวิชชาดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอาสวะ
เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความดับอาสวะ ปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอาสวะอย่างนี้ เมื่อนั้นท่านละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัย และมานานุสัย โดยประการทั้งปวง ละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ย่อมกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันเทียว
(๕) ธรรมหนึ่งที่เมื่อภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ จิตที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป ย่อมบรรลุถึงธรรมที่ปลอดโปร่งจากกิเลสเป็นเครื่องประกอบไว้ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่ยังไม่บรรลุ อันพระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบพระองค์นั้นตรัสไว้ คือ รูปฌาณ ๔ อัปปมัญญา ๔ อรูปฌาณ ๓ ซึ่งบุคคลสามารถหลุดพ้นได้โดยประตูอมตะประตูหนึ่ง ๆ แห่งประตูอมตะ ๑๑ ประตูนี้
ภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า แม้รูปฌาณ ๔ อัปปมัญญา ๔ อรูปฌาณ ๓ นี้ อันเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ก่อสร้างขึ้น ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ก่อสร้างขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา ดังนี้
เธอตั้งอยู่ในธรรม คือ สมถะและวิปัสสนานั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะความยินดีเพลิดเพลินในธรรม คือ สมถะและวิปัสสนานั้น เพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เธอย่อมเป็นโอปปาติกะ จะปรินิพพานในที่นั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา
(๖) ความสิ้นอาสวะจะมีได้แก่ภิกษุผู้รู้เห็นโยนิโสมนสิการและอโยนิโสมนสิการ
เมื่อภิกษุมนสิการโดยไม่แยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญขึ้น
เมื่อภิกษุมนสิการโดยแยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป
อาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็นมีอยู่ ที่จะพึงละได้เพราะการสังวรก็มี ที่จะพึงละได้เพราะเสพเฉพาะก็มี ที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้นก็มี ที่จะพึงละได้เพราะเว้นรอบก็มี ที่จะพึงละได้เพราะบรรเทาก็มี ที่จะพึงละได้เพราะอบรมก็มี
อาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็น
ปุถุชนผู้ไม่รู้ทั่วถึงธรรมอันตนควรมนสิการ ย่อมไม่รู้ทั่วถึงธรรมอันตนไม่ควรมนสิการ
เมื่อไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ ไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมมนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ.
ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเป็นไฉน?
เมื่อมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญขึ้น
ธรรมที่ควรมนสิการเป็นไฉน?
เมื่อมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดีที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป
อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญแก่ปุถุชนนั้น เพราะมนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะไม่มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ
ปุถุชนนั้นมนสิการอยู่โดยไม่แยบคายอย่างนี้ว่า
เราได้มีแล้วในอดีตกาลหรือหนอ เราไม่ได้มีแล้วในอดีตกาลหรือหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไรหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอย่างไรหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไรแล้วจึงเป็นอะไรหนอ
ในอนาคตกาลเราจักมีหรือหนอ ในอนาคตกาลเราจักไม่มีหรือหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไรหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอย่างไรหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไรแล้วจึงจักเป็นอะไรหนอ
หรือว่า ปรารภกาลปัจจุบันในบัดนี้มีความสงสัยขึ้นภายในว่า เรามีอยู่หรือ เราไม่มีอยู่หรือ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ สัตว์นี้มาแต่ไหนหนอ และมันจักไป ณ ที่ไหน.
เมื่อปุถุชนมนสิการโดยไม่แยบคาย ทิฏฐิ ๖ ทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นว่า ตนของเรามีอยู่ หรือว่า ตนของเราไม่มีอยู่ หรือว่า เราย่อมรู้ชัดตนด้วยตนเอง หรือว่า เราย่อมรู้ชัดสภาพมิใช่ตนด้วยตนเอง หรือว่าเราย่อมรู้ตนด้วยสภาพมิใช่ตน
ทิฏฐิย่อมเกิดมีแก่ปุถุชนนั้นอย่างนี้ว่า ตนของเรานี้เป็นผู้เสวย ย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมทั้งดีทั้งชั่วในอารมณ์นั้นๆ ก็ตนของเรานี้นั้นเป็นของแน่นอนยั่งยืนเที่ยงแท้ ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่อย่างนั้นเสมอด้วยสิ่งยั่งยืนแท้
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ผู้ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์ ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมไม่พ้นจากทุกข์.
ส่วนอริยสาวกผู้สดับแล้วย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ และไม่ควรมนสิการ
เมื่ออริยสาวกนั้นรู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ และไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ.
ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกไม่มนสิการ
อริยสาวกไม่มนสิการธรรมที่เมื่อมนสิการแล้ว กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ที่ยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว เจริญขึ้น
ธรรมที่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกมนสิการอยู่?
อริยสาวกมนสิการธรรมที่เมื่อมนสิการแล้ว กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป
ธรรมที่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่อริยสาวกมนสิการอยู่ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว จะเสื่อมสิ้นไปแก่อริยสาวกนั้นเพราะไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ.
อริยสาวกย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป
อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการเห็น
อาสวะที่จะพึงละได้เพราะการสังวร
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วเป็นผู้สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในจักขุนทรีย์ ในโสตินทรีย์ ในฆานินทรีย์ ในชิวหินทรีย์ ในกายินทรีย์ ในมนินทรีย์อยู่
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใดที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่สำรวมจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์ อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สำรวมจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์อยู่อย่างนี้
อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการสังวร
อาสวะที่จะพึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพจีวรเพียงเพื่อกำจัดหนาว ร้อน สัมผัส แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อจะปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ
พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบิณฑบาตมิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตบแต่ง เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้เป็นไปเพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่าจะกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วย จะไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไป ความไม่มีโทษ และความอยู่สบายด้วยจักมีแก่เรา
พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพเสนาสนะ เพียงเพื่อกำจัดหนาวร้อน สัมผัสแห่งเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายแต่ฤดู เพื่อรื่นรมย์ในการหลีกออกเร้นอยู่
พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบริขาร คือ ยาอันเป็นปัจจัยบำบัดไข้ เพียงเพื่อกำจัดเวทนาที่เกิดแต่อาพาธต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นผู้ไม่มีอาพาธเบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง.
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่พิจารณาเสพปัจจัยอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้พิจารณาเสพอยู่อย่างนี้
อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ.
อาสวะที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้น
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วเป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว ระหาย สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน
เป็นผู้มีชาติของผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำที่ผู้อื่นกล่าวชั่ว ร้ายแรงต่อเวทนาที่มีอยู่ในตัว ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว เป็นทุกข์ กล้า แข็ง เผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่ชอบใจ อาจพล่าชีวิตเสียได้.
ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่อดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้อดกลั้นอยู่อย่างนี้
อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะความอดกลั้น.
อาสวะที่จะพึงละได้เพราะความเว้นรอบ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นสัตว์ที่ดุร้าย หลักตอ สถานที่มีหนาม บ่อ เหว แอ่งน้ำครำ บ่อน้ำครำ เพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย พึงกำหนดลงซึ่งบุคคลผู้นั่ง ณ ที่มิใช่อาสนะเห็นปานใด ผู้เทียวไปณ ที่มิใช่โคจรเห็นปานใด ผู้คบมิตรที่ลามก ในสถานทั้งหลายอันลามก
ภิกษุนั้นพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เว้นที่มิใช่อาสนะนั้น ที่มิใช่โคจรนั้น และมิตรผู้ลามกเหล่านั้น
จริงอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่เว้นสถานหรือบุคคลอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้เว้นรอบอยู่อย่างนี้
อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่าจะพึงละได้เพราะการเว้นรอบ
อาสวะที่จะพึงละได้เพราะความบรรเทา
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก บาปอกุศล ที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่บรรเทาธรรมอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้บรรเทาอยู่อย่างนี้
อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะความบรรเทา
อาสวะที่พึงละได้เพราะอบรม
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญสติสัมโพชฌงค์ เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เจริญปิติสัมโพชฌงค์ เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่อบรมธรรมอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้อบรมอยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะอบรม
การตัดอาสวะในสมาธิ
(๗) ปัญญาในการตัดขาดอาสวะ เพราะความบริสุทธิ์แห่งจิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน ชื่อว่าอานันตริกสมาธิ เป็นอย่างไร คือ
ความที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ (มีอารมณ์เดียว) ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งเนกขัมมะ ชื่อว่าสมาธิ ญาณย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งสมาธินั้น อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไปด้วยญาณนั้น สมถะมีก่อน ญาณมีภายหลัง ด้วยประการฉะนี้ ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีได้ด้วยญาณนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการตัดขาดอาสวะเพราะความบริสุทธิ์แห่งจิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน ชื่อว่าอานันตริกสมาธิญาณ
กามาสวะ (อาสวะคือกาม) ภวาสวะ (อาสวะคือภพ) ทิฏฐาสวะ (อาสวะคือทิฏฐิ) อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา) อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไป ณ ที่ไหน
ทิฏฐาสวะทั้งสิ้นย่อมสิ้นไปด้วยโสดาปัตติมรรค กามาสวะซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่อบาย ภวาสวะซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่อบาย อวิชชาสวะซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่อบาย ย่อมสิ้นไปด้วยโสดาปัตติมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งโสดาปัตติมรรคนี้
กามาสวะส่วนหยาบย่อมสิ้นไปด้วยสกทาคามิมรรค ภวาสวะซึ่งตั้งอยู่ร่วมกับกามาสวะนั้น อวิชชาสวะซึ่งตั้งอยู่ร่วมกับกามาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปด้วยสกทาคามิมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งสกทาคามิมรรคนี้
กามาสวะทั้งสิ้นย่อมสิ้นไปด้วยอนาคามิมรรค ภวาสวะซึ่งตั้งอยู่ร่วมกับกามาสวะนั้น อวิชชาสวะซึ่งตั้งอยู่ร่วมกับกามาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปด้วยอนาคามิมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งอนาคามิมรรคนี้
ภวาสวะทั้งสิ้น อวิชชาสวะทั้งสิ้น ย่อมสิ้นไปด้วยอรหัตตมรรค อาสวะเหล่านี้ ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งอรหัตตมรรคนี้