(๑) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณไม่เที่ยง ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ด้วยประการอย่างนี้ นี้เรียกว่าอนิจจสัญญา
(๒) ภิกษุผู้พิจารณาเห็นอานิสงส์ ๖ ประการ เป็นผู้สามารถเพื่อไม่กระทำเขตจำกัดในสังขารทั้งปวง แล้วยังอนิจจสัญญาให้ปรากฏ อานิสงส์ ๖ ประการ คือ
ภิกษุพิจารณาเห็นอยู่ว่า
สังขารทั้งปวงจักปรากฏโดยความเป็นของไม่มั่นคง ๑
ใจของเราจักไม่ยินดีในโลกทั้งปวง ๑
ใจของเราจักออกจากโลกทั้งปวง ๑
ใจของเราจักน้อมไปสู่นิพพาน ๑
สังโยชน์ทั้งหลายของเราจักถึงการละได้ ๑
และเราจักเป็นผู้ประกอบด้วยสามัญญธรรมชั้นเยี่ยม ๑
(๓) อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำกามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำรูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำอวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะทั้งปวงได้
ในสรทสมัย ชาวนาเมื่อไถนาด้วยไถคันใหญ่ ย่อมไถทำลายความสืบต่อแห่งราก (หญ้า) ทุกชนิด แม้ฉันใด อนิจจสัญญาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำ กามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ รูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำอวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะทั้งปวงได้ ฉันนั้นเหมือนกันแล
เมื่อพวงมะม่วงขาดจากขั้ว ในมะม่วงเหล่านั้น มะม่วงเหล่าใดเนื่องด้วยขั้ว มะม่วงเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเป็นของหลุดไปตามขั้วมะม่วงนั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกันแล
กลอนใด ๆ แห่งเรือนยอด กลอนทั้งหมดนั้นไปสู่ยอด น้อมไปที่ยอด ประชุมลงที่ยอด ยอด ชนทั้งหลายกล่าวว่า เลิศกว่ากลอนเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกันแล
ไม้มีกลิ่นที่รากใด ๆ ไม้กระลำพัก ชนทั้งหลายกล่าวว่าเลิศกว่าไม้มีกลิ่นที่รากเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฉันนั้นเหมือนกันแล
ไม้มีกลิ่นที่แก่นใดๆ จันทน์แดง ชนทั้งหลายกล่าวว่าเลิศกว่าไม้ที่มีกลิ่นเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกันแล
ไม้มีกลิ่นที่ดอกใด ๆ มะลิ ชนทั้งหลายกล่าวว่า เลิศกว่าไม้มีกลิ่นที่ดอกเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกันแล
แสงดาวทั้งหลาย ชนิดใดชนิดหนึ่ง แสงดาวทั้งหมดนั้น ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งแสงพระจันทร์ แสงพระจันทร์ ชนทั้งหลายกล่าวว่า เลิศกว่าแสงดาวเหล่านั้น แม้ฉันใด. อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกันแล
ก็อนิจจสัญญาอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงครอบงำกามราคะทั้งปวง ย่อมครอบงำรูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำอวิชชาทั้งปวงได้ย่อมถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะได้ทั้งหมด
อนิจจสัญญาอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ว่า
รูปดังนี้
ความเกิดแห่งรูปดังนี้
ความดับแห่งรูปดังนี้
เวทนาดังนี้
ความเกิดแห่งเวทนาดังนี้
ความดับแห่งเวทนาดังนี้
สัญญาดังนี้
ความเกิดแห่งสัญญาดังนี้
ความดับแห่งสัญญาดังนี้
สังขารดังนี้
ความเกิดแห่งสังขารดังนี้
ความดับแห่งสังขารดังนี้
วิญญาณดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณดังนี้
ความดับแห่งวิญญาณดังนี้
อนิจจสัญญาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมครอบงำกามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำรูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำอวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะได้หมด
(๔) เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่ จักละอัสมิมานะได้
(๕) อนิจจสัญญาอันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อละอัสสาททิฐิ (สัสสตทิฐิ)
(๖) อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ผู้ที่ได้อนัตตสัญญาย่อมบรรลุนิพพาน อันถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะในปัจจุบันทีเดียว
(๗) อนิจจสัญญาอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มาก ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร
ภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยอนิจจสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับ ไม่ยื่นไปรับในลาภสักการะและความสรรเสริญ อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ เปรียบเหมือนขนไก่ หรือเส้นเอ็นที่เขาใส่ลงในไฟ ย่อมหดงอเข้าหากัน ไม่คลี่ออก ฉะนั้น
ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยอนิจจสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมไหลไปในลาภสักการะ และความสรรเสริญ หรือความเป็นของไม่ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้ ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อนิจจสัญญาอันเราไม่เจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นเบื้องปลายของเราไม่มี ผลแห่งภาวนาของเรายังไม่ถึงที่ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอนิจจสัญญานั้น
ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยอนิจจสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับ ไม่ยื่นไปรับลาภสักการะและความสรรเสริญ อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้ ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อนิจจสัญญาอันเราเจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเรามีอยู่ ผลแห่งภาวนาของเราถึงที่แล้ว เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอนิจจสัญญานั้น
ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า อนิจจสัญญาอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้
(๘) การที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม
(๒) อโนทิสสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๗๓
(๔) มหาราหุโลวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๔๕ หน้า ๑๑๕
(๕) อัสสาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๘๓ หน้า ๔๐๑
(๖) สัมโพธิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๐๕ หน้า ๒๘๕
(๗) สัญญาสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๔๖ หน้า ๔๗-๔๘
(๘) เวลามสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๒๔ หน้า ๓๑๗