Main navigation
อิทธิวิธีญาณ
Share:

(๑)(๒) ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ

คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้

ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายก็ได้

ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้

ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้

เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้

เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้

ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้

ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

เปรียบเหมือนช่างหม้อหรือลูกมือของช่างหม้อผู้ฉลาด เมื่อนวดดินดีแล้ว ต้องการภาชนะชนิดใดๆ พึงทำภาชนะชนิดนั้นๆให้สำเร็จได้

อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างงาหรือลูกมือของช่างงาผู้ฉลาด เมื่อแต่งงาดีแล้ว ต้องการเครื่องงา ชนิดใดๆ พึงทำเครื่องงาชนิดนั้นๆให้สำเร็จได้

อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างทองหรือลูกมือของช่างทองผู้ฉลาด เมื่อหลอมทองดีแล้ว ต้องการทองรูปพรรณชนิดใดๆ พึงทำทองรูปพรรณชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้

(๑) นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ

(๒) ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง

(๓) ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์

(๔) สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ในศาสดาใด ศาสดานี้ไม่ควรท้วงในโลก  อนึ่ง การท้วงศาสดาเห็นปานนี้ ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม ประกอบด้วยโทษ

(๕) ฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยการอธิษฐาน

คำว่า คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ คือ

ท่านผู้มีฤทธิ์โดยปรกติเป็นคนเดียว ย่อมนึกให้เป็นหลายคน คือ นึกให้เป็นร้อยคน พันคนหรือแสนคนแล้ว อธิษฐานด้วยญาณว่า จงเป็นหลายคน ก็เป็นหลายคน ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นถึงความชำนาญแห่งจิต แม้คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ เปรียบเหมือนท่านพระจุลปันถก รูปเดียวเป็นหลายรูปก็ได้ ฉะนั้น คำว่า

หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ คือ ท่านผู้มีฤทธิ์โดยปรกติหลายคน ย่อมนึกให้เป็นคนเดียว แล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า จงเป็นคนเดียว ก็เป็นคนเดียว ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นถึงความชำนาญแห่งจิต หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ เปรียบเหมือนท่านพระจุลปันถก หลายรูปเป็นรูปเดียวก็ได้ ฉะนั้น

คำว่า ทำให้ปรากฏก็ได้ คือ ที่อันอะไร ๆ ปิดบังไว้ ทำให้ไม่มีอะไร ปิดบังให้เปิดเผยก็ได้

คำว่า ทำให้หายไปก็ได้ คือ ที่อันอะไร ๆ เปิดไว้ ทำให้เป็นที่ปิดบัง มิดชิดก็ได้

คำว่า ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ คือ ท่านผู้มีฤทธิ์เป็นผู้ได้อากาศกสิณสมาบัติโดยปกติ ย่อมนึกถึงฝา กำแพง ภูเขา แล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า จงเป็นที่ว่างก็ย่อมเป็นที่ว่าง ท่านผู้มีฤทธิ์นั้น ย่อมทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัด

ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นถึงความชำนาญแห่งจิต ย่อมทะลุฝา กำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่แจ้ง เปรียบเหมือนพวกมนุษย์ผู้ไม่มีฤทธิ์โดยปรกติ ย่อมไปในที่ที่ไม่มีอะไร ๆ ปิดบังกั้นไว้ไม่ติดขัด ฉะนั้น

คำว่า ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ คือ ท่านผู้มีฤทธิ์เป็นผู้ได้อาโปกสิณสมาบัติโดยปรกติ ย่อมนึกถึงแผ่นดินแล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า จงเป็นน้ำ ก็เป็นน้ำ ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นผุดขึ้น ดำลงในแผ่นดินได้

ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นถึงความชำนาญแห่งจิตผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เปรียบเหมือนพวกมนุษย์ ผู้ไม่มีฤทธิ์โดยปรกติ ผุดขึ้นดำลงในน้ำได้ ฉะนั้น

คำว่า เดินไปบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ คือ ท่านผู้มีฤทธิ์ เป็นผู้ได้ปฐวีกสิณสมาบัติโดยปรกติ ย่อมนึกถึงน้ำ แล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า จงเป็นแผ่นดิน ก็เป็นแผ่นดิน ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นเดินไปบนน้ำไม่แตกได้

ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นถึงความชำนาญแห่งจิต เดินไปบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เปรียบเหมือนพวกมนุษย์ผู้ไม่มีฤทธิ์โดยปรกติ เดินไปบนแผ่นดินไม่แตกได้ ฉะนั้น

คำว่า เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ คือ ท่านผู้มีฤทธิ์เป็นผู้ได้ปฐวีกสิณสมาบัติโดยปรกติ ย่อมนึกถึงอากาศแล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า จงเป็นแผ่นดิน ก็เป็นแผ่นดิน

ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นเดินบ้าง ยืนบ้าง นอนบ้าง ในอากาศกลางหาวเหมือนนกก็ได้ เปรียบเหมือนพวกมนุษย์ผู้ไม่มีฤทธิ์โดยปรกติ เดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง บนแผ่นดิน ฉะนั้น

คำว่า ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนั้นด้วยฝ่ามือก็ได้ คือ ท่านผู้มีฤทธิ์ในศาสนานี้ ถึงความชำนาญแห่งจิต นั่งหรือนอนก็ตาม นึกถึงพระจันทร์และพระอาทิตย์ แล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า พระจันทร์ พระอาทิตย์ จงมีที่ใกล้มือ ก็ย่อมมีที่ใกล้มือ

ท่านผู้มีฤทธิ์นั้น นั่งหรือนอนอยู่ ก็ตามย่อมลูบคลำสัมผัสพระจันทร์พระอาทิตย์ด้วยฝ่ามือได้ เปรียบเหมือนพวกมนุษย์ผู้ไม่มีฤทธิ์โดยปรกติ ย่อมลูบคลำสัมผัสรูปอะไร ๆ ที่ใกล้มือได้ ฉะนั้น

คำว่า ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ คือ

ท่านผู้มีฤทธิ์ผู้ถึงความชำนาญแห่งจิตนั้น ถ้าประสงค์จะไปยังพรหมโลก

ก็อธิษฐานที่ไกลให้เป็นที่ใกล้ว่า
จงเป็นที่ใกล้ ก็เป็นที่ใกล้

อธิษฐานที่ใกล้ให้เป็นที่ไกลว่า
จงเป็นที่ไกล ก็เป็นที่ไกล

อธิษฐานของมากให้เป็นของน้อยว่า
จงเป็นของน้อย ก็เป็นของน้อย

อธิษฐานของน้อย ให้เป็นของมากว่า
จงเป็นของมาก ก็เป็นของมาก

ย่อมเห็นรูปพรหมนั้นได้ด้วยทิพจักษุ
ย่อมฟังเสียงพรหมนั้นได้ด้วยทิพโสตธาตุ
ย่อมรู้จิตของพรหมนั้นได้ด้วยเจโตปริยญาณ

ท่านผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิตนั้น ประสงค์จะไปยังพรหมโลกด้วยกายที่ปรากฏ ก็น้อมจิตอธิษฐานจิตด้วยสามารถแห่งกาย ครั้นแล้วหยั่งลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญา แล้วก็ไปยังพรหมโลกได้ด้วยกายที่ปรากฏอยู่

ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิตนั้น ประสงค์จะไปยังพรหมโลกด้วยกายที่ไม่ปรากฏ ก็น้อมกายอธิษฐานกายด้วยสามารถแห่งจิต ครั้นแล้วหยั่งลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญา แล้วก็ไปยังพรหมโลกด้วยกายที่ไม่ปรากฏ

ท่านผู้มีฤทธิ์นิรมิตรูปอันสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะครบทุกส่วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ไว้ข้างหน้าของพรหมนั้น

ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์เดินอยู่ รูปกายนิรมิตก็เดินอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์ยืนอยู่ รูปกายนิรมิตก็ยืนอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์นั่งอยู่ รูปกายนิรมิต ก็นั่งอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์นอนอยู่ รูปกายนิรมิตก็นอนอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์บังหวนควันอยู่ รูปกายนิรมิตก็บังหวนควันอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์ ให้ไฟลุกโพลงอยู่ รูปกายนิรมิตก็ให้ไฟลุกโพลง ณ ที่นั้น

ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์ผู้มีฤทธิ์กล่าวธรรมอยู่ ​รูปกายนิรมิตก็กล่าวธรรมอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์ถามปัญหาอยู่ รูปกายนิรมิตก็ถามปัญหาอยู่ ณ ที่นั้น

ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์อันรูปกายนิรมิตถามปัญหาแล้วก็แก้ รูปกายนิรมิตอันท่านผู้มีฤทธิ์ถามปัญหาแล้วก็แก้อยู่ ณ ที่นั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์ยืนสนทนาปราศรัยอยู่กับพรหมนั้น รูปกายนิรมิตก็ยืนสนทนาปราศรัยกับพรหมนั้นอยู่ ณ ที่นั้น ท่านผู้มีฤทธิ์ทำกิจใด รูปกายนิรมิตก็ทำกิจนั้น ๆ นั่นแล

นี้ฤทธิ์ที่อธิษฐานเป็นดังนี้


 

อ้างอิง:
(๑) สามัญญผลสูตร อิทธิวิธีญาณ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๑๓๓ หน้า ๗๓-๗๔
(๒) สุภสูตร อิทธิวิธีญาณ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๓๑ หน้า ๒๙๙-๓๓๐
(๓) เกวัฏฏสูตร อิทธิวิธีญาณ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๔๒ หน้า ๓๒๑-๓๒๒
(๔) โลหิจจสูตร อิทธิวิธีญาณ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๖๓ หน้า ๓๕๐-๓๕๑
(๕) ปัญญาวรรค อิทธิกถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๖๘๕ หน้า ๓๓๑-๓๓๔

 

คำต่อไป