(๑) วิตก มีในสมัยนั้น เป็นไฉน
ความตรึก ความตรึกอย่างแรง ความดำริ ความที่จิตแนบอยู่ในอารมณ์ ความที่จิตแนบสนิทอยู่ในอารมณ์ ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ สัมมาสังกัปปะ มิจฉาสังกัปปะ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า วิตก มีในสมัยนั้น
(๒) วิตกอันเป็นความดำริของบุรุษ
มีนามรูปเป็นอารมณ์เกิดขึ้น
ย่อมถึงความต่างกันในธาตุทั้งหลาย
มีผัสสะเป็นสมุทัย
มีเวทนาเป็นที่ประชุมลง
มีสมาธิเป็นประมุข
มีสติเป็นใหญ่
มีปัญญาเป็นยิ่ง
มีวิมุตติเป็นแก่น
มีอมตะเป็นที่หยั่งลง
(๓) อกุศลวิตกมี ๓ อย่าง คือ
๑. กามวิตก - ความตรึกในทางกาม
๒. พยาบาทวิตก - ความตรึกในทางพยาบาท
๓. วิหิงสาวิตก - ความตรึกในทางเบียดเบียน
กุศลวิตกมี ๓ อย่าง คือ
๑. เนกขัมมวิตก - ความตรึกในทางออกจากกาม
๒. อัพยาบาทวิตก - ความตรึกในทางไม่พยาบาท
๓. อวิหิงสาวิตก - ความตรึกในทางไม่เบียดเบียน
(๔) อกุศลวิตก ๓ ประการ คือ
วิตกประกอบด้วยการไม่ให้ผู้อื่นดูหมิ่นตน ๑
วิตกประกอบด้วยลาภ สักการะ และความสรรเสริญ ๑
วิตกประกอบด้วยความเอ็นดูในผู้อื่น ๑
บุคคลผู้ประกอบแล้วด้วยการไม่ให้ผู้อื่นดูหมิ่นตน ผู้หนักในลาภและสักการะ มีปรกติยินดีกับด้วยอำมาตย์ทั้งหลาย เป็นผู้ห่างไกลจากความสิ้นไปแห่งสังโยชน์
ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้ ละบุตร ปศุสัตว์ การให้กระทำวิวาหะ และการหวงแหนเสียได้ ภิกษุผู้เช่นนั้น ๆ เป็นผู้ควรเพื่อจะบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด
(๕) วิตก ๖ อย่าง คือ
รูปวิตก (ความตรึกในรูป)
สัททวิตก (ความตรึกในเสียง)
คันธวิตก (ความตรึกในกลิ่น)
รสวิตก (ความตรึกในรส)
โผฏฐัพพวิตก (ความตรึกในสัมผัส)
ธัมมวิตก (ความตรึกในธรรมารมณ์)
เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก
ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้
ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้
สิ่งที่พึงตรึก
(๖) อกุศลวิตก ๓ ประการนี้ กระทำความมืดมน ไม่กระทำปัญญาจักษุ กระทำความไม่รู้ ยังปัญญาให้ดับ เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน คือ
กามวิตก ๑
พยาบาทวิตก ๑
วิหิงสาวิตก ๑
กุศลวิตก ๓ ประการนี้ ไม่กระทำความมืดมนกระทำปัญญาจักษุ กระทำญาณ ยังปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน คือ
เนกขัมมวิตก ๑
อพยาบาทวิตก ๑
อวิหิงสาวิตก ๑
พึงตรึกกุศลวิตก ๓ ประการ แต่พึงนำอกุศลวิตก ๓ ประการออกเสีย พระโยคาวจรนั้นแล ยังมิจฉาวิตกทั้งหลายให้สงบระงับ เปรียบเหมือนฝนยังธุลีที่ลมพัดฟุ้งขึ้นแล้วให้สงบ ฉะนั้น พระโยคาวจรนั้น มีใจอันเข้าไปสงบวิตก ได้ถึงสันตบทคือนิพพานในปัจจุบันนี้แล
(๗) เธอทั้งหลายจงอย่าตรึกถึงอกุศลวิตกอันลามก คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะวิตกเหล่านี้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน
ก็เมื่อเธอทั้งหลายจะตรึก พึงตรึกว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะความตรึกเหล่านี้ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน
(๘) เมื่อภิกษุอยู่ด้วยวิหารธรรม จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะตรึก เธอย่อมใส่ใจว่า เราจักไม่ตรึกในวิตกเห็นปานฉะนี้ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ซึ่งเป็นวิตกที่เลวทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ด้วยอาการนี้ เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการตรึก
และเธอใส่ใจว่า เราจักตรึกในวิตกเห็นปานฉะนี้ คือ เนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก ซึ่งเป็นวิตกของพระอริยะ เป็นเครื่องนำออก ที่นำออกเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่บุคคลผู้ทำตาม ด้วยอาการนี้ เป็นอันเธอรู้สึกตัวในการตรึก
วิตกในสมาธิ
(๙) สมาธิ ๓ อย่าง คือ
สมาธิมีวิตกมีวิจาร
สมาธิไม่มีวิตกมีแต่วิจาร
สมาธิไม่มีวิตกไม่มีวิจาร
(๑๐) สมาธิที่ไม่มีวิตกวิจารมีอยู่ ความดับวิตกวิจารมีอยู่
นิครณฐ์นาฏบุตรกล่าวว่าการดับวิตกวิจารนั้น ก็เท่ากับว่าเข้าใจว่า พึงกั้นกางลมได้ด้วยข่าย พึงกั้นกางกระแสน้ำคงคาได้ด้วยฝ่ามือของตน
(๑๑) ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตก ๑ วิจาร ๑ ปีติ ๑ สุข ๑ เอกัคคตา ๑ ย่อมเป็นไปแก่ภิกษุผู้เข้าปฐมฌานมีองค์ ๕ อย่างนี้
(๑๒) วิตกและวิจารย่อมดับในที่ใด และใครดับวิตก วิจารได้แล้ว
วิตกและวิจารย่อมดับในทุติยฌาณนี้
และภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแก่สมาธิอยู่ ท่านเหล่านั้นดับวิตกวิจารได้แล้ว
การละวิตกขณะเจริญอธิจิต
(๑๓) เมื่อภิกษุอาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใดอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศลอันประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น ภิกษุพึง
1. มนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศล
เมื่อเธอมนสิการนิมิตนั้นอันประกอบด้วยกุศลอยู่ เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเสียได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้
เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายใน เหมือนช่างไม้ หรือลูกมือของช่างไม้ผู้ฉลาด ใช้ลิ่มอันเล็ก ตอก โยก ถอน ลิ่มอันใหญ่ออก
2. พิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้น
หากว่าเมื่อภิกษุนั้นมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศลยังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ทีเดียว ภิกษุนั้นควรพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นว่า วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอกุศล แม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโทษ แม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มีทุกข์เป็นวิบาก แม้อย่างนี้
เมื่อเธอพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศลอันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้
เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายใน เหมือนหญิงสาวหรือชายหนุ่มที่ชอบแต่งตัวรู้สึกอึดอัด ระอา เกลียดชังต่อซากงู ซากสุนัข หรือซากมนุษย์ ซึ่งผูกติดอยู่ที่คอ (ของตน)
3. ถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้น
หากว่าเมื่อภิกษุนั้นพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศลยังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ภิกษุนั้นพึงถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้น
เมื่อเธอถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศลอันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้
เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายใน เหมือนบุรุษผู้มีจักษุ ไม่ต้องการจะเห็นรูปที่ผ่านมา เขาพึงหลับตาเสีย หรือเหลียวไปทางอื่นเสีย
4. มนสิการสัณฐานแห่งวิตก สังขารของวิตกเหล่านั้น
หากว่าเมื่อภิกษุนั้นถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศลยังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ภิกษุนั้นควรมนสิการสัณฐานแห่งวิตก สังขารของวิตกเหล่านั้น
เมื่อเธอมนสิการสัณฐานแห่งวิตก สังขารของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศลอันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้
เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายใน เหมือนบุรุษเดินเร็ว เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะเดินเร็วทำไมหนอ ถ้ากระไร เราพึงค่อย ๆ เดิน เขาก็พึงค่อย ๆ เดิน เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราค่อย ๆ เดินไปทำไมหนอ ถ้ากระไร เราควรยืน เขาพึงยืน เขาพึงมีความคิดอย่างนี้อีกว่า เราจะยืนทำไมหนอ ถ้ากระไร เราควรนั่ง เขาพึงนั่ง เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะนั่งทำไมหนอ ถ้ากระไร เราควรนอน เขาพึงลงนอน ก็บุรุษคนนั้น มาผ่อนทิ้งอิริยาบถหยาบ ๆ เสีย พึงสำเร็จอิริยาบถละเอียดๆ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น
5. กัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิตอยู่
หากว่าเมื่อภิกษุนั้นมนสิการถึงสัณฐานแห่งวิตกสังขารของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศลยังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ภิกษุนั้นพึงกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิต
เมื่อเธอกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิตอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศลอันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้
เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายใน เหมือนบุรุษผู้มีกำลังมากจับบุรุษผู้มีกำลังน้อยกว่าไว้ได้แล้วบีบ กด เค้นที่ศีรษะ คอ หรือก้านคอไว้ให้แน่น
ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ชำนาญในทางเดินของวิตก เธอจักจำนง วิตกใดก็จักตรึกวิตกนั้นได้ จักไม่จำนงวิตกใด ก็จักไม่ตรึกวิตกนั้นได้ ตัดตัณหาได้แล้ว คลี่คลายสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ
ทรงจำแนกวิตกก่อนจะตรัสรู้
(๑๔) เมื่อเรายังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ก่อนจะตรัสรู้ ได้คิดอย่างนี้ว่า ถ้ากระไร เราพึงแยกวิตกให้เป็น ๒ ส่วน
เรานั้นจึงแยก กามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก นี้ออกเป็นส่วนหนึ่ง และแยกเนกขัมมวิตก อัพยาบาทวิตก และอวิหิงสาวิตก นี้ออกเป็นส่วนที่ ๒
เรานั้นไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตนไปอยู่อย่างนี้ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ย่อมบังเกิดขึ้น
เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก เกิดขึ้นแก่เราแล้วแล ก็แต่ว่ามันย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่นทั้งสองบ้าง ทำให้ปัญญาดับ ก่อให้เกิดความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน
เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง มันก็ถึงความดับสูญไป
เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง มันก็ถึงความดับสูญไป
เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่นทั้งสองบ้าง มันก็ถึงความดับสูญไป
เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า มันทำให้ปัญญาดับ ทำให้เกิดความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน ดังนี้บ้าง มันก็ถึงความดับสูญไป
เรานั้นละเสีย บรรเทาเสีย ซึ่งกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว ได้ทำให้มันหมดสิ้นไป
ภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งตรองถึงวิตกใด ๆ มาก เธอก็มีใจน้อมไปข้างวิตกนั้นๆ คือ ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งตรองถึงกามวิตกมาก เธอก็ละทิ้งเนกขัมมวิตกเสีย มากระทำอยู่แต่กามวิตกให้มาก จิตของเธอนั้นก็น้อมไปเพื่อกามวิตก
ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งตรองถึงพยาบาทวิตกมาก เธอก็ละทิ้งอัพยาบาทวิตกเสีย มากระทำอยู่แต่พยาบาทวิตกให้มาก จิตของเธอนั้นก็น้อมไปเพื่อพยาบาทวิตก
ถ้าภิกษุยิ่งตรึกยิ่งตรองถึงวิหิงสาวิตกมาก เธอก็ละทิ้งอวิหิงสาวิตกเสีย มากระทำอยู่แต่วิหิงสาวิตกให้มาก จิตของเธอนั้นก็น้อมไปเพื่อวิหิงสาวิตก
เหมือนในสรทสมัยเดือนท้ายแห่งปี คนเลี้ยงโคต้องคอยระวังโคทั้งหลายในที่คับคั่งด้วยข้าวกล้า เขาต้องตี ต้อนโคทั้งหลายจากที่นั้น ๆ กั้นไว้ ห้ามไว้ เพราะคนเลี้ยงโคมองเห็นการฆ่า การถูกจำ การเสียทรัพย์ การถูกติเตียน เพราะโคทั้งหลายเป็นต้นเหตุ แม้ฉันใด
เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้แลเห็นโทษ ความเลวทราม ความเศร้าหมอง ของอกุศลธรรมทั้งหลาย และเห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม อันเป็นฝ่ายแห่งความผ่องแผ้ว ของกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
เมื่อเรานั้นไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตนไปอยู่อย่างนี้ เนกขัมมวิตก อัพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก ย่อมบังเกิดขึ้น เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า เนกขัมมวิตกนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว
ก็แต่ว่าเนกขัมมวิตกนั้นไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย (คือตนและบุคคลอื่น) เป็นทางทำให้ปัญญาเจริญ ไม่ทำให้เกิดความคับแค้น เป็นไปเพื่อพระนิพพาน
ก็ถ้าเราจะตรึกตรองถึงเนกขัมมวิตกนั้นอยู่ตลอดคืนก็ดี เราก็ยังมองไม่เห็นภัยอันจะบังเกิดแต่เนกขัมมวิตกนั้นได้เลย
ถึงหากเราจะตรึกตรองถึงเนกขัมมวิตกนั้นอยู่ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันก็ดี เราก็ยังมองไม่เห็นภัยอันจะบังเกิดขึ้นจากเนกขัมมวิตกนั้นได้เลย
หากเราจะตรึกตรองถึงเนกขัมมวิตกนั้น ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันก็ดี เราก็ยังไม่มองเห็นภัยอันจะบังเกิดขึ้นจากเนกขัมมวิตกนั้นได้เลย
ก็แต่ว่าเมื่อเราตรึกตรองอยู่นานเกินไป ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อย เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อย จิตก็ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ
เรานั้นดำรงจิตไว้ในภายใน ทำให้สงบ ทำให้เกิดสมาธิ ประคองไว้ด้วยดี เพราะปรารถนาไว้ (หมายในใจว่า) ว่า จิตของเราอย่าฟุ้งซ่านอีกเลย
ภิกษุยิ่งตรึกยิ่งตรองถึงวิตกใด ๆ มาก เธอก็มีใจน้อมไปข้างวิตกนั้น ๆ มาก คือ
ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งตรองถึงเนกขัมมวิตกมาก เธอก็จะละกามวิตกเสียได้ ทำเนกขัมมวิตกอย่างเดียวให้มาก จิตของเธอก็จะน้อมไปเพื่อเนกขัมมวิตก
ถ้าภิกษุยิ่งตรึกยิ่งตรองถึงอัพยาบาทวิตกมาก เธอก็จะละพยาบาทวิตกเสียได้ ทำอัพยาบาทวิตกอย่างเดียวให้มาก จิตของเธอก็จะน้อมไปเพื่ออัพยาบาทวิตก
ถ้าภิกษุยิ่งตรึกยิ่งตรองถึงอวิหิงสาวิตกมาก เธอก็จะละวิหิงสาวิตกเสียได้ ทำอวิหิงสาวิตกอย่างเดียวให้มาก จิตของเธอก็น้อมไปเพื่ออวิหิงสาวิตก
เหมือนในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน คนเลี้ยงโคจะต้องรักษาโคทั้งหลาย ในที่ใกล้บ้านในทุกด้าน เมื่อเข้าไปสู่โคนต้นไม้ หรือไปสู่ที่แจ้ง จะต้องทำสติอยู่เสมอว่า นั้นฝูงโค (ของเรา) ดังนี้ ฉันใด
เราก็ฉันนั้น ต้องทำสติอยู่เสมอว่า เหล่านี้เป็นธรรม (คือกุศลวิตก) ดังนี้
วิตกของพระพุทธเจ้า
(๑๕) วิตก ๒ ประการ คือ เขมวิตก ๑ วิเวกวิตก ๑ ของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมเป็นไปเนือง ๆ
พระตถาคตมีความไม่เบียดเบียนเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความไม่เบียดเบียน วิตกนี้ของพระตถาคต ผู้มีความไม่เบียดเบียนเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความไม่เบียดเบียน ย่อมเป็นไปเนือง ๆ ว่าเราจะไม่เบียดเบียนสัตว์อะไร ๆ ผู้สะดุ้งหรือผู้มั่นคงให้ลำบากด้วยการกระทำนี้
พระตถาคตผู้มีความสงัดเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความสงัด วิตกนี้ของพระตถาคต ผู้มีความสงัดเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความสงัด ย่อมเป็นไปเนือง ๆ ว่า อกุศลเราละได้แล้ว
เพราะเหตุนั้น แม้เธอทั้งหลายก็จงเป็นผู้มีความไม่เบียดเบียนเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความไม่เบียดเบียนอยู่เถิด วิตกนี้ของเธอทั้งหลาย ผู้มีความไม่เบียดเบียนเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความไม่เบียดเบียน จักเป็นไปเนือง ๆ ว่า เราทั้งหลายจะไม่เบียดเบียนสัตว์อะไร ๆ ผู้สะดุ้งหรือผู้มั่นคงให้ลำบากด้วยการกระทำนี้
เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีความสงัดเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความสงัดอยู่เถิด วิตกนี้ของเธอทั้งหลาย ผู้มีความสงัดเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความสงัด จักเป็นไปเนือง ๆ ว่า อะไรชื่อว่าอกุศล อกุศลอะไร ๆ ที่เราทั้งหลายยังละไม่ได้แล้ว เราทั้งหลายจะละอกุศลอะไร
วิตก ๒ ประการของพระตถาคตผู้เป็นพระพุทธเจ้า ผู้ครอบงำมารอันผู้อื่นไม่พึงครอบงำได้ ย่อมเป็นไปเนือง ๆ พระตถาคตผู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นได้แสดงเขมวิตกข้อที่ ๑ ลำดับนั้น ได้ประกาศวิเวกวิตกข้อที่ ๒
อุปักกิเลสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๔๖๖ หน้า ๒๓๙