Main navigation

กัจจานสูตร

ว่าด้วย
อนุสติสำหรับพระอริยสาวก
เหตุการณ์
พระมหากัจจายนะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายเรื่อง อนุสติ ๖

พระมหากัจจายนะกล่าว่า เป็นเรื่องอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา พระผู้มีพระภาคทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้การถึงโอกาสได้ในที่คับแคบ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน

การถึงโอกาสนี้ คือ อนุสสติ ๖ ประการ คือ

การเจริญ พุทธานุสสติ เป็นอารมณ์

ระลึกถึงพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

การเจริญ ธรรมานุสติ เป็นอารมณ์

ระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน

การเจริญ สังฆานุสสติ เป็นอารมณ์

ระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง คือ คู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนั้น เป็นผู้ควรรับเครื่องสักการะ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรทักขิณา เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

การเจริญ สีลานุสสติ เป็นอารมณ์

ระลึกถึงศีลของตน อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทยแก่ตัว ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหา ทิฐิลูบคลำ  เป็นไปเพื่อสมาธิ

การเจริญ จาคานุสสติ เป็นอารมณ์

ระลึกถึงจาคะของตนว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ คือ เมื่อหมู่สัตว์ถูกมลทินคือความตระหนี่กลุ้มรุม เรามีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน เป็นผู้มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม (คอยหยิบของบริจาค) ยินดีในการเสียสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน

การถึง เทวตานุสสติ เป็นอารมณ์

ระลึกถึงเทวดาว่า เทวดาเหล่าจาตุมหาราช ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรินิมมิตวสวัตตี พรหม และเทวดาที่สูงกว่านั้นมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่ เมื่อเราระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ปัญญาเช่นนั้น แม้ของเราก็มีอยู่

เมื่ออริยสาวกเจริญ พุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ เป็นอารมณ์ จิตนั้นย่อมไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรง เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไป จากความอยาก คือ เบญจกามคุณ อริยสาวกนั้นย่อมมีใจเสมอด้วยอากาศ ไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน

การเจริญพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดา

 

อ่าน กัจจานสูตร

อ้างอิง
กัจจานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๙๗ หน้า ๒๘๘-๒๙๐
ลำดับที่
16

สถานที่

ไม่ระบุ

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ