Main navigation

สัมปสาทนียสูตร

ว่าด้วย
พระสารีบุตรทูลสรรเสริญพระพุทธเจ้า
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี เขตเมืองนาลันทา พระสารีบุตรบันลือสีหนาทว่า ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์อื่น ที่จะมีความรู้ยิ่งไปกว่าพระผู้มีพระภาคในทางพระสัมโพธิญาณ

เมื่อพระสารีบุตรบันลือสีหนาทว่า ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์อื่น  ที่จะมีความรู้ยิ่งไปกว่าพระผู้มีพระภาคในทางพระสัมโพธิญาณ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่าพระสารีบุตรกำหนดใจด้วยใจ แล้วรู้ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต อนาคต ปัจจุบันว่า พระผู้มีพระภาคมีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีพระปัญญาอย่างนี้ มีวิหารธรรมอย่างนี้ มีวิมุตติอย่างนี้ได้หรือ

เมื่อพระสารีบุตรตอบว่าไม่สามารถกำหนดรู้ใจพระผู้มีพระภาคทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบันได้ พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อว่าในเมื่อไม่มีเจโตปริยญาณเหตุใดจึงหาญกล่าวอาสภิวาจาอันประเสริฐนี้ บันลือสีหนาท

พระสารีบุตรตอบว่าแม้ท่านจะไม่มีเจโตปริยญาณในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีในอดีต อนาคต และปัจจุบันก็จริง แต่ท่านก็ทราบอาการที่เป็นแนวของธรรมได้ว่าพระพุทธเจ้าทั้งในอดีต ในอนาคต ล้วนละนิวรณ์ ๕ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ เครื่องทอนกำลังปัญญา มีใจตั้งมั่นแล้วในสติปัฏฐาน ๔ เจริญสัมโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง จึงได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

และท่านได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคในปัจจุบันเพื่อฟังธรรม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอย่างยอดเยี่ยม ประณีตยิ่งนัก ทั้งฝ่ายดำฝ่ายขาว พร้อมด้วยอุปมาด้วยประการใด ๆ พระสารีบุตรก็รู้ยิ่งในธรรมนั้นด้วยประการนั้น ๆ ได้ถึงความสำเร็จธรรมบางส่วนในธรรมทั้งหลายแล้ว จึงเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว

แล้วกล่าวถึงธรรมข้อที่เยี่ยมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงต่าง ๆ และสรรเสริญว่าพระผู้มีพระภาครู้ยิ่งธรรมเหล่านั้นได้หมดสิ้น เมื่อทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้นได้หมดสิ้น ก็ไม่มีธรรมข้ออื่นที่จะทรงรู้ยิ่งขึ้นไป ไม่มีสมณพารมณ์มีความรู้ยิ่งไปกว่าพระองค์

ความรู้ยิ่งของพระพุทธเจ้า

๑. ธรรมในฝ่ายกุศลธรรมทั้งหลาย ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕โพชฌงค์ ๗ อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน

๒. ธรรมในฝ่ายบัญญัติอายตนะ ได้แก่อายตนะภายใน และอายตนะภายนอก อย่างละ ๖ เหล่านี้ คือ

จักษุกับรูป
โสตกับเสียง
ฆานะกับกลิ่น
ชิวหากับรส
กายกับโผฏฐัพพะ
มนะกับธรรมารมณ์

๓. ธรรมในการก้าวลงสู่ครรภ์ การก้าวลงสู่ครรภ์ ๔ เหล่านี้ คือ

ก.) ไม่รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์มารดา ไม่รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์มารดา ไม่รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์มารดา

ข.) รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์มารดาอย่างเดียว แต่ไม่รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์มารดา ไม่รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์มารดา

ค.) รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์มารดา รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์มารดา แต่ไม่รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์มารดา

ง.) รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์มารดา รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์มารดา รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์มารดา

๔. ธรรมในวิธีแห่งการดักใจคน วิธีแห่งการดักใจคน ๔ อย่างคือ

ก.) ดักใจได้ด้วยนิมิต
ข.) ดักใจได้ด้วยฟังเสียงของมนุษย์ หรืออมนุษย์ หรือเทวดาทั้งหลาย
ค.) ดักใจได้ด้วยฟังเสียงละเมอของผู้วิตก
ง.) ดักใจได้ด้วยกำหนดรู้ใจของผู้ได้สมาธิซึ่งยังมีวิตก วิจาร ด้วยใจได้ว่า มโนสังขารของผู้นี้ ตั้งอยู่ด้วยประการใด เขาจะต้องตรึกถึงวิตกชื่อนี้ ในลำดับจิตขณะนี้ ด้วยประการนั้น

๕. ธรรมในทัศนสมาบัติ ทัศนสมาบัติ ๔ อย่างเหล่านี้ คือ

ก.) สมณะหรือพราหมณ์บางคนย่อมพิจารณากายนี้แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังห่อหุ้มโดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่าง ๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร

ข.) สมณะหรือพราหมณ์บางคน ย่อมพิจารณากายนี้แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังห่อหุ้มโดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่าง ๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ เธอพิจารณาเห็นกระดูก ก้าวล่วงผิวหนังเนื้อและเลือดของบุรุษเสีย

ค.) สมณะหรือพราหมณ์บางคนย่อมพิจารณากายนี้แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังห่อหุ้มโดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่าง ๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกระดูก ก้าวล่วงผิวหนัง เนื้อและเลือดของบุรุษเสีย และย่อมรู้กระแสวิญญาณของบุรุษซึ่งขาดแล้วโดยส่วนสอง คือ ทั้งที่ตั้งอยู่ในโลกนี้ ทั้งที่ตั้งอยู่ในปรโลกได้

ง.) สมณะหรือพราหมณ์บางคนย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังห่อหุ้มโดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่าง ๆ ว่า มีอยู่ในกาย ย่อมพิจารณาเห็นกระดูก ก้าวล่วง ผิวหนัง เนื้อและเลือดของบุรุษเสีย และย่อมรู้กระแสวิญญาณของบุรุษ ซึ่งขาดแล้วโดยส่วนสอง คือ ทั้งที่ไม่ตั้งอยู่ในโลกนี้ ทั้งที่ไม่ตั้งอยู่ในปรโลก

๖. ธรรมในฝ่ายบุคคลบัญญัติ บุคคล ๗ คือ

อุภโตภาควิมุตติ ๑
ปัญญาวิมุตติ ๑
กายสักขี ๑
ทิฏฐิปัตตะ ๑
สัทธาวิมุตติ ๑
ธรรมานุสารี ๑
สัทธานุสารี ๑

๗. ธรรมในฝ่ายธรรมเป็นที่ตั้งมั่น โพชฌงค์ ๗ คือ

สติสัมโพชฌงค์ ๑
ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ๑
วิริยสัมโพชฌงค์ ๑
ปีติสัมโพชฌงค์ ๑
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ๑
สมาธิสัมโพชฌงค์ ๑
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ๑

๘. ธรรมในฝ่ายปฏิปทา ปฏิปทา ๔ เหล่าคือ

๑). ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิปทาที่ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า เป็นปฏิปทาที่ทราม เพราะปฏิบัติลำบาก และเพราะรู้ได้ช้า

๒). ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิปทาที่ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว เป็นปฏิปทาที่ทราม เพราะปฏิบัติลำบาก

๓). สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิปทาที่ปฏิบัติได้สะดวก แต่รู้ได้ช้า เป็นปฏิปทาที่ทราม เพราะรู้ได้ช้า

๔). สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิปทาที่ปฏิบัติได้สะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว เป็นปฏิปทาประณีต เพราะปฏิบัติสะดวก และเพราะรู้ได้เร็ว

๙. ธรรมในฝ่ายภัสสสมาจาร

คนบางคนในโลกนี้ ไม่กล่าววาจาเกี่ยวด้วยมุสาวาท ไม่กล่าววาจาส่อเสียดอันทำความแตกร้าวกัน ไม่กล่าววาจาอันเกิดแต่ความแข่งดีกัน ไม่มุ่งความชนะ กล่าวแต่วาจาซึ่งไตร่ตรองด้วยปัญญา อันควรฝังไว้ในใจตามกาลอันควร

๑๐. ธรรมในฝ่ายศีลสมาจารของบุรุษ

คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนมีสัจจะ มีศรัทธา ไม่เป็นคนพูดหลอกลวง ไม่พูดเลียบเคียง ไม่พูดหว่านล้อม ไม่พูดและเล็ม ไม่แสวงหาลาภด้วยลาภ เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในโภชนะ ทำความสม่ำเสมอ ประกอบชาคริยานุโยค ไม่เกียจคร้าน ปรารภความเพียร เพ่งฌาน มีสติ พูดดี และมีปฏิภาณ มีคติ มีปัญญาทรงจำ มีความรู้ ไม่ติดอยู่ในกาม มีสติ มีปัญญารักษาตน

๑๑. ธรรมในฝ่ายอนุสาสนวิธี อนุสาสนวิธี ๔ อย่าง คือ พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่าบุคคลนี้ เมื่อปฏิบัติตามที่สั่งสอน

๑.) จักเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป

๒.) จักเป็นพระสกทาคามี จักมาสู่โลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และเพราะราคะโทสะ และโมหะเบาบาง

๓.) จักเป็นพระอนาคามีผู้เป็นอุปปาติกะ ปรินิพพานในภพที่เกิดนั้น ไม่ต้องกลับมาจากโลกนั้น เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป

๔.) จักได้บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป จักทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน

๑๒. ธรรมในฝ่ายวิมุตติญาณของบุคคลอื่น คือ พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า

๑.) บุคคลนี้จักเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในเบื้องหน้าเพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป

๒.) บุคคลนี้จักเป็นพระสกทาคามี จักมาสู่โลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง

๓.) บุคคลนี้จักเป็นพระอานาคามีผู้อุปปาติกะปรินิพพานในภพที่เกิดนั้น ไม่ต้องกลับมาจากโลกนั้น เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป

๔.) บุคคลนี้จักได้บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป จักทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

๑๓. ธรรมในฝ่ายสัสสตวาทะ สัสสตวาทะ ๓ เหล่านี้ คือ

ก.) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้สิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ รู้กาลที่เป็นอดีต รู้กาลที่เป็นอนาคตว่า อัตตาและโลกเที่ยง ส่วนเหล่าสัตว์นั้นย่อมแล่นไป ย่อมท่องเที่ยวไป ย่อมจุติ ย่อมเกิด แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอ คงมีอยู่

ข.) สมณะหรือพราหมณ์บางคนตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้ สังวัฏกัปวิวัฏกัปหนึ่งบ้าง สองบ้าง สามบ้าง สี่บ้าง ห้าบ้าง สิบบ้าง พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ รู้กาลที่เป็นอดีต รู้กาลที่เป็นอนาคตได้ว่า อัตตาและโลกเที่ยง ส่วนเหล่าสัตว์นั้นย่อมแล่นไป ย่อมท่องเที่ยวไป ย่อมจุติ ย่อมเกิด แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอ คงมีอยู่แท้

ค.) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้ สิบสังวัฏกัปวิวัฏกัปบ้าง ยี่สิบบ้าง สามสิบบ้าง สี่สิบบ้าง พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ รู้กาลที่เป็นอดีต รู้กาลที่เป็นอนาคตได้ อัตตาและโลกเที่ยง ส่วนเหล่าสัตว์นั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเที่ยวไป ย่อมจุติ ย่อมเกิด แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอ คงมีอยู่แท้

๑๔. ธรรมในฝ่ายบุพเพนิวาสานุสติญาณ

สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ คือ ตามระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง หลายสังวัฎวิวัฏกัปบ้างว่า ในภพโน้น เราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาบังเกิดในภพนี้ ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ สัตว์ทั้งหลายที่มีชาติอันไม่อาจนับได้ด้วยวิธีคำนวณ หรือวิธีนับ ก็ยังมีอยู่ แม้ภพซึ่งเป็นที่ ๆ เขาเคยอาศัยอยู่ คือรูปภพ อรูปภพ สัญญีภพ อสัญญีภพ เนวสัญญีนาสัญญีภพ ก็ยังมี

๑๕. ธรรมในฝ่ายรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย

สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

๑๖. ธรรมในฝ่ายอิทธิวิธี ๒ อย่างคือ

๑. ฤทธิ์ที่ประกอบด้วยอาสวะ ประกอบด้วยอุปธิ ไม่เรียกว่าเป็นของพระอริยะ คือ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ได้บรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ

คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฎก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ไป ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

นี้ฤทธิ์ที่ประกอบด้วยอาสวะ ประกอบด้วยอุปธิ ไม่เรียกว่าเป็นของพระอริยะ

๒. ฤทธิ์ที่ปราศจากอาสวะ ปราศจากอุปธิ เรียกว่าเป็นของพระอริยะ คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีสัญญาในสิ่งปฏิกูล ว่าไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีสัญญาในสิ่งปฏิกูลนั้นว่าไม่ปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีสัญญาในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีสัญญาในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นว่า เป็นสิ่งปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีสัญญาในสิ่งทั้งที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลว่า ไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีสัญญาในสิ่งทั้งที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลนั้นว่า ไม่ปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีสัญญาในสิ่งทั้งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล ว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีสัญญาในสิ่งทั้งที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลนั้น ว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงละวางสิ่งที่เป็นปฏิกูลและไม่เป็นปฏิกูลทั้ง ๒ นั้นเสีย แล้ววางเฉยมีสติสัมปชัญญะ ก็ย่อมเป็นผู้วางเฉยในสิ่งนั้นที่เป็นปฏิกูลและไม่เป็นปฏิกูลนั้นเสีย มีสติสัมปชัญญะอยู่

นี้ฤทธิ์ที่ปราศจากอาสวะ ปราศจากอุปธิ ที่เรียกว่าเป็นของอริยะ

พระสารีบุตรได้สรรเสริญพระพุทธเจ้าถึงความเพียรว่าว่าสิ่งใดอันกุลบุตรผู้มีศรัทธาปรารภความเพียร มีความเพียรมั่น จะพึงถึงด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ ด้วยความเอาธุระของบุรุษ สิ่งนั้นอันพระผู้มีพระภาคได้บรรลุเต็มที่แล้ว

พระผู้มีพระภาคไม่ทรงประกอบความพัวพันด้วยความสุขในกาม และไม่ทรงประกอบการทำตนให้ลำบากเป็นทุกข์ ทรงได้ฌาน ๔ อยู่สบายในปัจจุบันได้ตามประสงค์ได้ไม่ยาก ไม่ลำบาก

แล้วกล่าวต่อไปว่า ถ้ามีคนถามพระสารีบุตรว่ามีบุคคลในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน ที่มีความรู้ เยี่ยมยิ่งกว่า พระผู้มีพระภาคในสัมโพธิญาณมีไหม ท่านจะตอบว่าไม่มี

ถ้าถามว่า สมณะหรือพราหมณ์ ในอดีต ในอนาคต ที่มีความรู้ เสมอเท่ากับ พระพุทธเจ้าในสัมโพธิญาณมีอยู่

ถ้าถามว่า มีสมณะหรือพราหมณ์ที่มีอยู่ ในปัจจุบัน ที่มีความรู้ เสมอเท่ากับ พระพุทธเจ้าในสัมโพธิญาณ

เพราะพระสารีบุตรได้ฟังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสมาต่อหน้าพระพักตร์ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต อนาคต เป็นผู้มีความรู้เสมอเท่ากับพระพุทธเจ้าในปัจจุบันในสัมโพธิญาณ

ข้อที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ จะเกิดพร้อมกันในโลกธาตุเดียวกันนั้น ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส นั่นเป็นฐานะที่จะมีไม่ได้

หลังจากที่พระสารีบุตรสรรเสริญพระพุทธเจ้าจบ พระอุทายีได้กล่าวกับพระพุทธเจ้าว่า น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา มีอยู่แก่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้ แต่ไม่ทรงแสดงพระองค์ให้ปรากฏ

ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้เห็นธรรมแม้สักข้อหนึ่งจากธรรมของพระองค์นี้ในตนแล้ว พวกเขาจะต้องยกธงเที่ยวประกาศ ด้วยเหตุเพียงเท่านั้น

พระผู้มีพระภาคทรงกล่าวแก่พระสารีบุตรให้แสดงธรรมนี้เนือง ๆ เพื่อให้ชนคลายสงสัยและเคลือบแคลงในองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วทรงกล่าวแก่ภิกษุทั้งหลายให้ดูความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลาของพระองค์ ผู้มีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้ แต่ไม่แสดงตนให้ปรากฏ

 

 

 

อ่าน สัมปสาทนียสูตร

 

อ้างอิง
สัมปสาทนียสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๑๑ ข้อที่ ๗๓-๙๓ หน้า ๗๖-๙๐
ลำดับที่
4

สถานที่

เมืองนาลันทา

สถานการณ์

การตอบปัญหาธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ