ขันธ์ ๕ คือ
๑. รูปขันธ์ - กองรูป
๒. เวทนาขันธ์ - กองเวทนา
๓. สัญญาขันธ์ - กองสัญญา
๔. สังขารขันธ์ - กองสังขาร
๕. วิญญาณขันธ์ - กองวิญญาณ
อุปาทานขันธ์ ๕ คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ - ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งการยึดถือ คือ รูป
๒. เวทนูปาทานขันธ์ - ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งการยึดถือ คือ เวทนา
๓. สัญญูปาทานขันธ์ - ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งการยึดถือ คือ สัญญา
๔. สังขารูปาทานขันธ์ - ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งการยึดถือ คือ สังขาร
๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ - ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งการยึดถือ คือ วิญญาณ
กามคุณ ๕ คือ
สิ่งที่จะพึงรู้แจ้งได้ด้วย ๑. จักษุ ๒. หู ๓. จมูก ๔. ลิ้น ๕. กาย ซึ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารักประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
คติ ๕ คือ
๑. นิรยะ - ภูมินรก
๒. ติรัจฉานโยนิ - ภูมิดิรัจฉาน
๓. ปิตติวิสัย - ภูมิเปรต
๔. มนุสสะ - ภูมิมนุษย์
๕. เทวะ - ภูมิเทวดาและพรหม
มัจฉริยะ ๕ คือ
๑. อาวาสมัจฉริยะ - ตระหนี่ที่อยู่
๒. กุลมัจฉริยะ - ตระหนี่สกุล (หวง Connection)
๓. ลาภมัจฉริยะ - ตระหนี่ลาภ
๔. วัณณมัจฉริยะ - ตระหนี่วรรณะ (สร้างชนชั้นเพื่อกีดกันผู้อื่น)
๕. ธัมมมัจฉริยะ - ตระหนี่ธรรม ไม่แสดงธรรม ไม่ให้ความรู้
นีวรณ์ ๕ คือ
๑. กามฉันทนีวรณ์ - สิ่งปิดกั้นจิต คือ ความพอใจในกาม
๒. พยาปาทนีวรณ์ - สิ่งปิดกั้นจิต คือ ความพยาบาท
๓. ถีนมิทธนีวรณ์ - สิ่งปิดกั้นจิต คือ ความที่จิตหดหู่และหาวนอน
๔. อุทธัจจกุกกุจจนีวรณ์ - สิ่งปิดกั้นจิต คือ ความฟุ้งซ่านและรำคาญ
๕. ความสงสัยลังเลนีวรณ์ - สิ่งปิดกั้นจิต คือ ความสงสัย
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ (สังโยชน์เบื้องต่ำที่พระอนาคามีละขาด) คือ
๑. สักกายทิฏฐิ - ความเห็นว่าเป็นตน
๒. วิจิกิจฉา - ความสงสัยลังเล
๓. สีลัพพตปรามาส - ความเชื่อถือว่าศีลหรือพรตทำให้ศักดิ์สิทธิ์
๔. กามฉันทะ - ความพอใจด้วยอำนาจแห่งกาม
๕. พยาบาท - ความคิดแค้น
อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ (สังโยชน์เบื้องบนที่พระอรหันต์ละขาด) คือ
๑. รูปราคะ - ความติดใจอยู่ในรูปธรรม
๒. อรูปราคะ - ความติดใจอยู่ในอรูปธรรม
๓. มานะ - ความสำคัญว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่
๔. อุทธัจจะ - ความคิดพล่าน
๕. อวิชชา - ความไม่รู้จริง
สิกขาบท ๕ คือ
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี - เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. อทินนาทานา เวรมณี - เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการลักทรัพย์
๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี - เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาทา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการพูดเท็จ
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี - เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจาก การดื่มน้ำเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
อภัพพฐาน ๕ คือ
๑. ภิกษุขีณาสพไม่สามารถที่จะแกล้งปลงสัตว์จากชีวิต
๒. ภิกษุขีณาสพไม่สามารถที่จะลักทรัพย์
๓. ภิกษุขีณาสพไม่สามารถที่จะเสพเมถุนธรรม
๔. ภิกษุขีณาสพไม่สามารถที่จะพูดเท็จทั้งรู้อยู่
๕. ภิกษุขีณาสพไม่สามารถที่จะกระทำการสั่งสมบริโภคกาม เหมือนเมื่อครั้งยังเป็นคฤหัสถ์
พยสนะ ๕ คือ
๑. ญาติพยสนะ - ความฉิบหายแห่งญาติ
๒. โภคพยสนะ - ความฉิบหายแห่งโภคะ
๓. โรคพยสนะ - ความฉิบหายเพราะโรค
๔. สีลพยสนะ - ความฉิบหายแห่งศีล
๕. ทิฏฐิพยสนะ - ความฉิบหายแห่งทิฏฐิ
สัตว์ทั้งหลายย่อมจะไม่ต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุที่ญาติฉิบหาย เพราะเหตุที่โภคะฉิบหาย เพราะเหตุที่ฉิบหายเพราะโรค
สัตว์ทั้งหลายย่อมจะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุที่ศีลพินาศ หรือเพราะเหตุที่ทิฏฐิพินาศ
สัมปทา ๕ คือ
๑. ญาติสัมปทา - ความถึงพร้อมด้วยญาติ
๒. โภคสัมปทา - ความถึงพร้อมด้วยโภคะ
๓. อาโรคยสัมปทา - ความถึงพร้อมด้วยความไม่มีโรค
๔. สีลสัมปทา - ความถึงพร้อมด้วยศีล
๕. ทิฏฐิสัมปทา - ความถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
สัตว์ทั้งหลายย่อมจะไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งญาติสัมปทา เพราะเหตุแห่งโภคสัมปทา เพราะเหตุแห่งอาโรคยสัมปทา
สัตว์ทั้งหลายย่อมจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งสีลสัมปทา หรือเพราะเหตุแห่งทิฏฐิสัมปทา
โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ๕ คือ
๑. ย่อมเข้าถึงความเสื่อมแห่งโภคะใหญ่ ซึ่งมีความประมาทเป็นเหตุ
๒. เกียรติศัพท์อันเสียหายของคนทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมระบือไป
๓. เข้าไปหาบริษัทใด ๆ เป็นผู้ไม่แกล้วกล้า เป็นคนเก้อเขินเข้าไป
๔. ย่อมเป็นคนหลงทำกาละ
๕. ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ๕ คือ
๑. ย่อมประสบกองแห่งโภคะใหญ่ ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ
๒. เกียรติศัพท์ที่ดีงามของคนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อมระบือไป
๓. เข้าไปหาบริษัทใด ๆ เป็นผู้แกล้วกล้าไม่เก้อเขินเข้าไป
๔. ย่อมเป็นผู้ไม่หลงทำกาละ (ตายไม่รู้ตัว)
๕. ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
ธรรมสำหรับโจท ๕ คือ
ภิกษุผู้เป็นโจทที่ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการไว้ ณ ภายใน แล้วจึงโจทผู้อื่น คือ
๑. เราจักกล่าว โดยกาลอันควร จักไม่กล่าวโดยกาลอันไม่ควร
๒. เราจักกล่าว ด้วยคำจริง จักไม่กล่าวด้วยคำไม่จริง
๓. เราจักกล่าว ด้วยคำอ่อนหวาน จักไม่กล่าวด้วยคำหยาบ
๔. เราจักกล่าว ด้วยคำที่ประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่กล่าวด้วยคำที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
๕. เราจักกล่าว ด้วยเมตตาจิต จักไม่กล่าวด้วยมีโทสะในภายใน
องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร ๕ คือ
๑. เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต
๒. เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีทุกข์น้อย ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก
๓. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เปิดเผยตนตามเป็นจริง
๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อจะละอกุศลธรรม เพื่อจะยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลังใจ มีความบากบั่นมั่น ไม่ทอดธุระในบรรดาธรรมที่เป็นกุศล
๕. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา เป็นไปเพื่อชำแรกกิเลส จะให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
สุทธาวาส ๕ คือ
๑. อวิหาภูมิ
๒. อตัปปาภูมิ
๓. สุทัสสาภูมิ
๔. สุทัสสีภูมิ
๕. อกนิฏฐาภูมิ
พระอนาคามี ๕ คือ
๑. พระอนาคามีผู้ที่จะปรินิพพานในระหว่างอายุยังไม่ทันถึงกึ่ง
๒. พระอนาคามีผู้ที่จะปรินิพพานต่อเมื่ออายุพ้นกึ่งแล้วจวนถึงที่สุด
๓. พระอนาคามีผู้ที่จะปรินิพพานด้วยไม่ต้องใช้ความเพียรนัก
๔. พระอนาคามีผู้ที่จะปรินิพพานด้วยต้องใช้ความเพียร
๕. พระอนาคามีผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่ชั้นอกนิฏฐภพ (เลื่อนชั้น)
ความกระด้างแห่งจิต ๕ คือ
๑. เคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา
๒. เคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในพระธรรม
๓. เคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์
๔. เคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในสิกขา (ศีล)
๕. โกรธ ขัดเคือง มีจิตอันโทสะกระทบแล้ว
ความผูกพันแห่งจิต ๕ คือ
๑. เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความระหาย ความกระวนกระวาย ความทะยานอยากใน กาม ทั้งหลาย
๒. เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความระหาย ความกระวนกระวาย ความทะยานอยากใน กาย
๓. เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความระหาย ความกระวนกระวาย ความทะยานอยากใน รูป
๔. ประกอบความสุขใน การนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการหลับอยู่
๕. ประพฤติพรหมจรรย์ปรารถนาหมู่เทพเจ้าหมู่ใดหมู่หนึ่ง ด้วยศีล พรต ตบะ
อินทรีย์ ๕ (สิ่งที่เป็นใหญ่ในกาย) คือ
๑. จักขุนทรีย์ - อินทรีย์ คือ ตา
๒. โสตินทรีย์ - อินทรีย์ คือ หู
๓. ฆานินทรีย์ - อินทรีย์ คือ จมูก
๔. ชิวหินทรีย์ - อินทรีย์ คือ ลิ้น
๕. กายินทรีย์ - อินทรีย์ คือ กาย
อินทรีย์ ๕ (สิ่งที่เป็นใหญ่ในใจ) คือ
๑. สุขุนทรีย์ - อินทรีย์ คือ สุข
๒. ทุกขินทรีย์ - อินทรีย์ คือ ทุกข์
๓. โสมนัสสินทรีย์ - อินทรีย์ คือ โสมนัส
๔. โทมนัสสินทรีย์ - อินทรีย์ คือ โทมนัส
๕. อุเปกขินทรีย์ - อินทรีย์ คือ อุเบกขา
อินทรีย์ ๕ (สิ่งที่เป็นใหญ่ในการบรรลุธรรม) คือ
๑. สัทธินทรีย์ - อินทรีย์คือ ศรัทธา
๒. วิริยินทรีย์ - อินทรีย์คือ วิริยะ
๓. สตินทรีย์ - อินทรีย์คือ สติ
๔. สมาธินทรีย์ - อินทรีย์คือ สมาธิ
๕. ปัญญินทรีย์ - อินทรีย์คือ ปัญญา
นิสสารณียธาตุ ๕ (เครื่องสลัดออก) คือ
๑. มนสิการถึง เนกขัมมะ อยู่ จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ พ้นวิเศษแล้วจากกามทั้งหลาย และพ้นแล้วจากอาสวะอันเป็นเหตุเดือดร้อน กระวนกระวาย
๒. มนสิการถึง ความไม่พยาบาท อยู่ จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ พ้นวิเศษดีแล้วจากความพยาบาท และพ้นแล้วจากอาสวะอันเป็นเหตุเดือดร้อน กระวนกระวาย
๓. มนสิการถึง ความไม่เบียดเบียน อยู่ จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ พ้นวิเศษดีแล้วจากความเบียดเบียน และพ้นแล้วจากอาสวะอันเป็นเหตุเดือดร้อน กระวนกระวาย
๔. มนสิการถึง อรูป อยู่ จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ พ้นวิเศษดีแล้วจากรูปทั้งหลาย และพ้นแล้วจากอาสวะอันเป็นเหตุเดือดร้อน กระวนกระวาย
๕. มนสิการถึง ความดับแห่งกายของตน อยู่ จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ พ้นวิเศษดีแล้วจากกายของตน และพ้นแล้วจากอาสวะอันเป็นเหตุเดือดร้อน กระวนกระวาย
วิมุตตายตนะ ๕ (แดนแห่งวิมุตติ) คือ
๑. พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีซึ่งควรแก่ตำแหน่งครู แสดงธรรมแก่เธอ
๒. พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีซึ่งควรแก่ตำแหน่งครู แสดงธรรมแก่คนอื่น ๆ โดยพิสดาร
๓. การสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังได้เรียนไว้แล้วโดยพิสดาร
๔. การตรึกตรองตามซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังได้เรียนไว้ด้วยจิต เพ่งตามด้วยใจ
๕. เรียนสมาธินิมิตด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ใคร่ครวญด้วยดี แทงตลอดด้วยดีด้วยปัญญา
เมื่อศึกษาตามนี้ ภิกษุย่อมรู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรมในธรรมนั้น ความปราโมทย์ย่อมเกิดแก่ผู้รู้แจ้งอรรถรู้แจ้งธรรม ความอิ่มใจย่อมเกิดแก่ผู้ปราโมทย์แล้ว กายของผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบระงับ ผู้มีกายสงบระงับแล้วย่อมเสวยความสุข จิตของผู้มีความสุข ย่อมตั้งมั่น นี้แดนวิมุตติ
สัญญาอบรมวิมุตติ ๕ คือ
๑. อนิจจสัญญา - สัญญาเครื่องพิจารณาเห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง
๒. อนิจเจทุกขสัญญา - สัญญาเครื่องพิจารณาเห็นว่าเป็นทุกข์ในสิ่งที่ไม่เที่ยง
๓. ทุกเขอนัตตสัญญา - สัญญาเครื่องพิจารณาเห็นว่าไม่ใช่ตนในสิ่งที่เป็นทุกข์
๔. ปหานสัญญา - สัญญาเครื่องพิจารณาเห็นว่าควรละเสีย
๕. วิราคสัญญา - สัญญาเครื่องพิจารณาเห็นความคลายเสียซึ่งความกำหนัด