Main navigation

พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า...

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย
เราจักกล่าวธรรมอย่างสูงสิบหมวด สำหรับเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหมด
เพื่อถึงพระนิพพาน เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ อันเป็นของจริง แท้ แน่นอน ไม่ผิดพลาด ไม่เป็นอย่างอื่น อันพระตถาคตตรัสรู้แล้วโดยชอบ

 

เรียบเรียงจาก:
ทสุตตรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๑๑/๓๖๔-๔๗๓/๒๕๑-๒๘๘
ดาวน์โหลด e-book ยอดธรรมเพื่อการหลุดพ้น

 

ธรรมมีอุปการะมาก

ธรรมอย่างหนึ่งที่มีอุปการะมาก คือ

ความไม่ประมาทในอกุศลธรรมทั้งหลาย

ธรรม ๒ อย่างที่มีอุปการะมาก คือ

สติ และสัมปชัญญะ

ธรรม ๓ อย่างที่มีอุปการะมาก คือ

การคบหาสัตบุรุษ ๑
การฟังธรรมของสัตบุรุษ ๑
การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑

ธรรม ๔ อย่างที่มีอุปการะมาก คือ

การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑
การคบสัตบุรุษ ๑
การตั้งตนไว้ชอบ ๑
ความเป็นผู้มีบุญกระทำไว้แล้วในปางก่อน ๑

ธรรม ๕ อย่างที่มีอุปการะมาก คือ

เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต ๑
เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีทุกข์น้อย ๑
เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา กระทำตนให้แจ้งตามเป็นจริง  ๑
มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ๑
เป็นผู้มีปัญญา อันเห็นความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ๑

ธรรม ๖ อย่างที่มีอุปการะมาก

กระทำให้เป็นที่รัก ให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ

ตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

ตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

ตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

แบ่งปันลาภอันประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม กับเพื่อนพรหมจรรย์ ผู้มีศีลทั้งหลาย ๑

มีศีลเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญแล้ว อันตัณหาและทิฐิไม่แตะต้องแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

มีทิฐิอันประเสริฐ นำออกจากทุกข์ นำผู้ปฏิบัติตามเพื่อ ความสิ้นทุกข์โดยชอบ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

ธรรม ๗ อย่างที่มีอุปการะมาก ได้แก่

อริยทรัพย์ ๗ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา

ธรรม ๘ อย่างที่มีอุปการะมาก ได้แก่

เหตุปัจจัย ๘ เพื่อความได้ปัญญาที่ยังไม่ได้ เพื่อความมียิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้ว คือ

๑.  การอาศัยครูหรือสพรหมจรรย์ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครูรูปใดรูปหนึ่ง เข้าไปตั้งไว้ซึ่งหิริโอตตัปปะ ความรักและความเคารพอย่างแรงกล้าในท่านนั้น

๒.  เข้าไปหาท่านเสมอ ๆ สอบถามไต่ถามธรรมกับท่าน

๓.  ยังความหลีกออกแห่งกาย และความหลีกออกแห่งจิต

๔.  เป็นผู้มีศีล สำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร เห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

๕.  มีสุตตะมากซึ่งธรรมทั้งหลาย อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด บริสุทธิ์ บริบูรณ์

๖.  ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม

๗.  มีสติ ประกอบด้วยสติและปัญญาเครื่องรักษาตนอันยอดเยี่ยม

๘.  พิจารณาเห็นความเกิดความดับในอุปาทานขันธ์ ๕

ธรรม ๙ อย่างที่มีอุปการะมาก ได้แก่

ธรรมอันมีมูลมาแต่โยนิโสมนสิการ ๙ คือ

เมื่อกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ปราโมทย์ย่อมเกิด ๑
ปีติย่อมเกิดแก่ผู้ปราโมทย์ ๑
กายของผู้มีใจกอปรด้วยปีติย่อมสงบ ๑
ผู้มีกายสงบย่อมเสวยสุข ๑
จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ๑
ผู้มีจิตตั้งมั่นย่อมรู้เห็นตามเป็นจริง ๑
ผู้รู้เห็นตามเป็นจริงย่อมหน่าย ๑
เมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด ๑
เพราะคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น ๑

ธรรม ๑๐ อย่างที่มีอุปการะมาก ได้แก่

ธรรมอันเป็นที่พึ่ง ๑๐ คือ

๑.  มีศีลสำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจรอยู่ มีปรกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย

๒.  มีธรรมที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด อันสดับแล้ว ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว

๓.  มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี

๔.  เป็นผู้ว่าง่าย อดทน

๕.  ขยันไม่เกียจคร้าน ประกอบด้วยปัญญาในกรณียะนั้น ๆ

๖.  เป็นผู้ใคร่ในธรรม มีความปราโมทย์ยิ่งในอภิธรรม ในอภิวินัย

๗.  เป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัยสี่

๘.  ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม และยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม

๙.  มีสติ ประกอบด้วยสติและปัญญาเครื่องรักษาตนอย่างยอดเยี่ยม

๑๐. เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิดและความดับอันประเสริฐ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

 

ธรรมควรให้เจริญ

ธรรมอย่างหนึ่งควรให้เจริญ คือ

กายคตาสติอันประกอบด้วยความสำราญ

ธรรม ๒ อย่างควรให้เจริญ คือ
สมถะ และวิปัสสนา

ธรรม ๓ อย่างควรให้เจริญ คือ

สมาธิมีวิตกมีวิจาร ๑
สมาธิไม่มีวิตกมีแต่วิจาร ๑
สมาธิไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ๑

ธรรม ๔ อย่างควรให้เจริญ คือ

สติปัฏฐาน ๔ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดความยินดีความยินร้ายในโลกเสียได้
พิจารณาเห็นกายในกายเนือง ๆ อยู่ ๑
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนือง ๆ อยู่ ๑
พิจารณาเห็นจิตในจิตเนือง ๆ อยู่ ๑
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนือง ๆ อยู่ ๑

ธรรม ๕ อย่างควรให้เจริญ คือ

สัมมาสมาธิ อันประกอบด้วย
ปีติแผ่ไป ๑
สุขแผ่ไป ๑
การกำหนดใจผู้อื่นแผ่ไป ๑
แสงสว่างแผ่ไป ๑
นิมิตเป็นเครื่องพิจารณา ๑

ธรรม ๖ อย่างควรให้เจริญ คือ

ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ๑
ระลึกถึงคุณพระธรรม ๑
ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ ๑
ระลึกถึงศีล ๑
ระลึกถึงทานที่ตนบริจาค ๑
ระลึกถึงคุณที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา ๑

ธรรม ๗ อย่างควรให้เจริญ ได้แก่

โพชฌงค์ ๗ คือ
สติ
ธัมมวิจย
วิริยะ
ปีติ
ปัสสัทธิ
สมาธิ
อุเบกขา

ธรรม ๘ อย่างควรให้เจริญ ได้แก่

อริยมรรค ๘ คือ

ความเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑
การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีพชอบ ๑ พยายามชอบ ๑
ระลึกชอบ ๑ ใจตั้งมั่นชอบ ๑

ธรรม ๙ อย่างควรให้เจริญ ได้แก่

องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๙ คือ

๑.  ความหมดจดแห่งศีล
๒.  ความหมดจดแห่งจิต
๓.  ความหมดจดแห่งทิฐิ
๔.  ความหมดจดแห่งญาณเครื่องข้ามพ้นความสงสัย
๕.  ความหมดจดแห่งญาณเห็นว่าใช่ทางหรือมิใช่ทาง
๖.  ความหมดจดแห่งญาณเห็นทางปฏิบัติที่สมควรแก่ธรรม
๗.  ความหมดจดแห่งญาณทัสนะ
๘.  ความหมดจดแห่งปัญญา
๙.  ความหมดจดแห่งวิมุตติ

ธรรม ๑๐ อย่างควรให้เจริญ ได้แก่

แดนแห่งกสิณ ๑๐ คือ

๑.  ปฐวีกสิณ
๒.  อาโปกสิณ
๓.  เตโชกสิณ
๔.  วาโยกสิณ
๕.  นีลกสิณ
๖.  ปีตกสิณ
๗.  โลหิตกสิณ
๘.  โอทาตกสิณ
๙.  อากาสกสิณ
๑๐.  วิญญาณกสิณ

ธรรมควรกำหนดรู้

ธรรมอย่างหนึ่งควรกำหนดรู้ คือ

ผัสสะที่ยังมีอาสวะมีอุปาทาน

ธรรม ๒ อย่างควรกำหนดรู้ คือ

นาม และรูป

ธรรม ๓ อย่างควรกำหนดรู้ คือ

สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา

ธรรม ๔ อย่างควรกำหนดรู้ คือ

อาหาร ๔ ได้แก่
กวฬิงการาหาร ๑
ผัสสาหาร ๑
มโนสัญเจตนาหาร  ๑
วิญญาณาหาร ๑

ธรรม ๕ อย่างควรกำหนดรู้ คือ

อุปาทานในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ธรรม ๖ อย่างควรกำหนดรู้ คือ

ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑

ธรรม ๗ อย่างควรกำหนดรู้ ได้แก่

วิญญาณฐิติ ๗ คือ

๑. สัตว์พวกหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกมนุษย์ พวกเทพบางหมู่ พวกเปรตบางหมู่   

๒. สัตว์พวกหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพผู้นับเนื่องในพวกพรหม ซึ่งเกิดในภูมิปฐมฌาน

๓. สัตว์พวกหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกเทพเหล่าอาภัสสรพรหม

๔. สัตว์พวกหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพเหล่าสุภกิณหพรหม   

๕. สัตว์พวกหนึ่ง เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้   

๖. สัตว์เหล่าหนึ่ง เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้   

๗. สัตว์เหล่าหนึ่ง เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร ๆ

ธรรม ๘ อย่างควรกำหนดรู้ ได้แก่

โลกธรรม ๘ คือ

ความได้ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑
ความได้ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑
นินทา ๑ สรรเสริญ ๑
สุข ๑ ทุกข์ ๑

ธรรม ๙ อย่างควรกำหนดรู้ ได้แก่

สัตตาวาส ๙

๑. มีสัตว์พวกหนึ่ง มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกมนุษย์ เทวดาบางพวก วินิปาติกะบางพวก

๒. มีสัตว์พวกหนึ่ง มีกายต่างกัน มีสัญญาเดียวกัน เช่น พวกเทพผู้นับเนื่องในพวกพรหม ซึ่งเกิดในภูมิปฐมฌาน

๓. มีสัตว์พวกหนึ่ง มีกายเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกเทพเหล่าอาภัสสรพรหม

๔. มีสัตว์พวกหนึ่ง มีกายเดียวกัน มีสัญญาเดียวกัน เช่น พวกเทพเหล่าสุภกิณหพรหม

๕. มีสัตว์พวกหนึ่ง ไม่มีสัญญา ไม่รู้สึกเสวยอารมณ์ เช่น พวกเทพเหล่าอสัญญีสัตว์

๖. มีสัตว์พวกหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพราะไม่ใส่ใจซึ่งนานัตตสัญญา เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้

๗. มีสัตว์พวกหนึ่ง เพราะล่วงซึ่งอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้

๘. มีสัตว์พวกหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญานัญจายตนะโดยประการ ทั้งปวง เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร

๙. มีสัตว์พวกหนึ่ง ล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า นี่สงบ นี่ประณีต

ธรรม ๑๐ อย่างควรกำหนดรู้ ได้แก่

อายตนะ ๑๐ คือ 

นัยน์ตา - รูป 
หู - เสียง 
จมูก - กลิ่น
ลิ้น - รส 
กาย - โผฏฐัพพะ

ธรรมควรละ

ธรรมอย่างหนึ่งควรละ คือ

อัสมิมานะ

ธรรม ๒ อย่างควรละ คือ

อวิชชา และภวตัณหา

ธรรม ๓ อย่างควรละ คือ

กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ธรรม ๔ อย่างควรละ คือ

กาม ๑ ภพ ๑ ทิฐิ ๑ อวิชชา ๑

ธรรม ๕ อย่างควรละ คือ

กาม ๑
พยาบาท ๑
ความหดหู่ ๑
ความฟุ้งซ่าน ๑
ความสงสัยลังเล ๑

ธรรม ๖ อย่างควรละ คือ

ตัณหาในรูป ๑
ตัณหาในเสียง ๑
ตัณหาในกลิ่น ๑
ตัณหาในรส ๑
ตัณหาในโผฏฐัพพะ ๑
ตัณหาในธรรมารมณ์ ๑

ธรรม ๗ อย่างควรละ ได้แก่

อนุสัย ๗ คือ กามราคะ ปฏิฆะ ทิฐิ ความสงสัยลังเล มานะ ภวราคะ อวิชชา

ธรรม ๘ อย่างควรละ ได้แก่

มิจฉัตตะ ๘ คือ

ความเห็นผิด ๑ ความดำริผิด ๑ เจรจาผิด ๑
การงานผิด ๑ เลี้ยงชีพผิด ๑ พยายามผิด ๑
ระลึกผิด ๑ ตั้งใจมั่นผิด ๑

ธรรม ๙ อย่างควรละ ได้แก่

ธรรมอันมีมูลมาแต่ตัณหา ๙ คือ

๑. ความแสวงหาเพราะอาศัยตัณหา
๒. ความได้เพราะอาศัยความแสวงหา
๓. ความตกลงใจย่อมเพราะอาศัยการได้
๔. ความกำหนัดพอใจเพราะอาศัยความตกลงใจ
๕. ความกล้ำกลืนเพราะอาศัยความกำหนัด
๖. ความหวงแหนเพราะอาศัยความกล้ำกลืน
๗. ความตระหนี่เพราะอาศัยความหวงแหน
๘. การตามรักษาเพราะอาศัยความตระหนี่
๙. อกุศลธรรมอันลามก คือ ถือศัสตรา ความทะเลาะแก่งแย่ง วิวาทกัน กล่าวส่อเสียด และการพูดเท็จ เพราะอาศัยความรักษา

ธรรม ๑๐ อย่างควรละ ได้แก่

ความเห็นผิด ความดำริผิด เจรจาผิด
การงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด
ระลึกผิด ตั้งใจผิด ความรู้ผิด
ความหลุดพ้นที่ผิด

ธรรมฝ่ายเสื่อม

ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม คือ

การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย

ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม คือ

ความเป็นผู้ว่ายาก และความเป็นผู้มีมิตรชั่ว

ธรรม ๓ อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม คือ

อกุศลมูลคือ โลภะ ๑
อกุศลมูลคือ โทสะ ๑
อกุศลมูลคือ โมหะ ๑

ธรรม ๔ อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม คือ

กามโยคะ ภวโยคะ ทิฐิโยคะ และอวิชชาโยคะ

ธรรม ๕ อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม คือ

ความเคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา ๑
ความเคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจ ไม่เลื่อมใสในพระธรรม ๑
ความเคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจ ไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ ๑
ความเคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจ ไม่เลื่อมใสในการศึกษา ๑
เป็นผู้โกรธ มีใจไม่แช่มชื่น ขัดใจ มีใจกระด้าง ๑

ธรรม ๖ อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม คือ

ไม่มีความเคารพ ไม่เชื่อฟัง
ในพระศาสดา ๑
ในพระธรรม ๑
ในพระสงฆ์ ๑
ในความศึกษา ๑
ในความไม่ประมาท ๑
ในปฏิสันถาร (การสนทนา) ๑

ธรรม ๗ อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม ได้แก่

อสัทธรรม ๗ คือ
เป็นผู้ไม่มีสัทธา ๑
ไม่มีหิริ ๑
ไม่มีโอตตัปปะ ๑
มีสุตะน้อย ๑
เกียจคร้าน ๑
หลงลืมสติ ๑
มีปัญญาทราม ๑

ธรรม ๘ อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม ได้แก่

เหตุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้าน ไม่ปรารภความเพียร ๘ คือ

๑.  นอนเพราะจะทำการงาน
๒.  นอนเพราะทำการงานเสร็จ
๓.  นอนเพราะจะต้องเดินทาง
๔.  นอนเพราะเพิ่งเดินทางถึง
๕.  นอนเพราะไม่ได้อาหาร
๖.  นอนเพราะกินอาหารอิ่ม
๗.  นอนเพราะป่วย
๘.  นอนเพราะหายป่วย

ธรรม ๙ อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม ได้แก่

เหตุเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาต ๙ คือ

ผู้นี้เคยทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา
ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา
ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา
ผู้นี้เคยทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา
ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา
ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา
ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา
ผู้นี้เคยทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา
ผู้นี้จักทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา

ธรรม ๑๐ อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม ได้แก่

อกุศลกรรมบถ ๑๐ คือ

ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
อยากได้ของเขา ปองร้ายเขา เห็นผิดธรรม

ธรรมฝ่ายวิเศษ

ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไปในส่วนข้างวิเศษ คือ

การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย

ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนข้างวิเศษ คือ

ความเป็นผู้ว่าง่าย และความเป็นผู้มีมิตรดี

ธรรม ๓ อย่างเป็นไปในส่วนข้างวิเศษ คือ

กุศลมูลคือ อโลภะ ๑
กุศลมูลคือ อโทสะ ๑
กุศลมูลคือ อโมหะ ๑

ธรรม ๔ อย่างเป็นไปในส่วนข้างวิเศษ คือ

ความพรากจากกาม ๑
ความพรากจากภพ ๑
ความพรากจากทิฐิ ๑
ความพรากจากอวิชชา ๑

ธรรม ๕ อย่างเป็นไปในส่วนข้างวิเศษ คือ

ศรัทธา ๑ วิริยะ ๑ สติ ๑ สมาธิ ๑ ปัญญา ๑

ธรรม ๖ อย่างเป็นไปในส่วนข้างวิเศษ คือ

ความเคารพ เชื่อฟัง
ในพระศาสดา ๑
ในพระธรรม ๑
ในพระสงฆ์ ๑
ในความศึกษา ๑
ในความไม่ประมาท ๑
ในปฏิสันถาร (การสนทนา) ๑

ธรรม ๗ อย่างเป็นไปในส่วนข้างวิเศษ ได้แก่

สัทธรรม ๗ คือ
เป็นผู้มีสัทธา ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑
มีสุตะมาก ๑ ปรารภความเพียร ๑
เข้าไปตั้งสติไว้ ๑ มีปัญญา ๑

ธรรม ๘ อย่างเป็นไปในส่วนข้างวิเศษ ได้แก่

เหตุเป็นที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียร ๘ คือ

๑.  ปรารภความเพียรเพราะจะทำการงาน
๒.  ปรารภความเพียรเพราะทำการงานเสร็จ
๓.  ปรารภความเพียรเพราะจะต้องเดินทาง
๔.  ปรารภความเพียรเพราะเพิ่งเดินทางถึง
๕.  ปรารภความเพียรเพราะไม่ได้อาหาร
๖.  ปรารภความเพียรเพราะกินอาหารอิ่ม
๗.  ปรารภความเพียรเพราะป่วย
๘.  ปรารภความเพียรเพราะหายป่วย

ธรรม ๙ อย่างเป็นไปในส่วนข้างวิเศษ ได้แก่

ความกำจัดความอาฆาต ๙

ธรรม ๑๐ อย่างเป็นไปในส่วนข้างวิเศษ ได้แก่

กุศลกรรมบถ ๑๐ คือ

เว้นจากฆ่าสัตว์ เว้นจากลักทรัพย์ เว้นจากประพฤติผิดในกาม
เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด
เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ
ไม่อยากได้ของเขา ไม่ปองร้ายเขา เห็นชอบ

ธรรมแทงตลอดได้ยาก

ธรรมอย่างหนึ่งแทงตลอดได้ยาก คือ

เจโตสมาธิอันไร้ขอบเขต

ธรรม ๒ อย่างแทงตลอดได้ยาก คือ

สิ่งใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยเพื่อความเศร้าหมองของเหล่าสัตว์
และสิ่งใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยเพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์

ธรรม ๓ อย่างแทงตลอดได้ยาก คือ

เนกขัมมะเป็นที่ถ่ายถอนกาม ๑
อรูปเป็นที่ถ่ายถอนรูป ๑
นิโรธเป็นที่ถ่ายถอนสิ่งที่เกิดแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อาศัยเหตุเกิดขึ้นแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง ๑

ธรรม ๔ อย่างแทงตลอดได้ยาก คือ

สมาธิเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม ๑
สมาธิเป็นไปในส่วนข้างทรงอยู่ ๑
สมาธิเป็นไปในส่วนข้างวิเศษ ๑
สมาธิเป็นไปในส่วนข้างแทงตลอด ๑

ธรรม ๕ อย่างแทงตลอดได้ยาก คือ

เนกขัมมะ พรากแล้วจากกามทั้งหลาย ๑
ความไม่พยาบาท พรากแล้วจากความพยาบาท ๑
ความไม่เบียดเบียน พรากแล้วจากความเบียดเบียน ๑
อรูป พรากแล้วจากรูปทั้งหลาย ๑
ความดับกายของตน พรากแล้วจากกายของตน ๑

ธรรม ๖ อย่างแทงตลอดได้ยาก คือ

เมตตาเจโตวิมุตติ เป็นที่สลัดออกจากพยาบาท ๑

กรุณาเจโตวิมุตติ เป็นที่สลัดออกจากการเบียดเบียน ๑

มุทิตาเจโตวิมุตติ เป็นที่สลัดออกจากอรติ (ความไม่พอใจ) ๑

อุเบกขาเจโตวิมุตติ เป็นที่สลัดออกจากราคะ ๑

เจโตวิมุตติอันหานิมิตมิได้ เป็นที่สลัดออกจากนิมิตทั้งปวง ๑

ความถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะ เป็นที่สลัดออกจากลูกศร คือ ความเคลือบแคลงสงสัย ๑

ธรรม ๗ อย่างแทงตลอดได้ยาก ได้แก่

สัปปุริสธรรม ๗ คือ   
เป็นผู้รู้เหตุ ๑ รู้ผล ๑ รู้จักตน ๑
รู้ประมาณ ๑ รู้กาลเวลา ๑
รู้บริษัท ๑ รู้จักเลือกบุคคล ๑

ธรรม ๘ อย่างแทงตลอดได้ยาก ได้แก่

กาลที่มิใช่ขณะ มิใช่สมัยเพื่ออยู่ประพฤติพรหมจรรย์

เมื่อพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในโลกนี้ และพระองค์ทรงแสดงธรรมเป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความดับ ยังสัตว์ให้ถึงความตรัสรู้ แต่บางบุคคลนี้

๑.  เข้าถึงนรกเสีย
๒.  เข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเสีย
๓.  เข้าถึงเปตวิสัยเสีย
๔.  เข้าถึงเทพนิกายซึ่งมีอายุยืนอย่างใดอย่างหนึ่งเสีย
๕.  เกิดในปัจจันตชนบท ถิ่นของคนผู้ไม่รู้ความ
๖.  เกิดในมัชฌิมชนบท แต่เป็นมิจฉาทิฐิ
๗.  เกิดในมัชฌิมชนบท แต่เป็นคนมีปัญญาทราม โง่เขลา เป็นใบ้
๘.  เป็นคนมีปัญญา ไม่โง่เขลา ไม่เป็นใบ้ รู้ความ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติในโลก

ธรรม ๙ อย่างแทงตลอดได้ยาก ได้แก่

ความต่าง ๙ คือ

๑.  ความต่างแห่งธาตุ

๒.  ความต่างแห่งผัสสะ ย่อมบังเกิดเพราะอาศัยความต่างแห่งธาตุ

๓.  ความต่างแห่งเวทนา ย่อมบังเกิดเพราะอาศัยความต่างแห่งผัสสะ

๔.  ความต่างแห่งสัญญา ย่อมบังเกิดเพราะอาศัยความต่างแห่งเวทนา

๕.  ความต่างแห่งความดำริ ย่อมบังเกิดเพราะอาศัยความต่างแห่งสัญญา

๖.  ความต่างแห่งความพอใจ ย่อมบังเกิดเพราะอาศัยความต่างแห่งความดำริ

๗.  ความต่างแห่งความเร่าร้อน ย่อมบังเกิดเพราะอาศัยความต่างแห่งความพอใจ

๘.  ความต่างแห่งความแสวงหา ย่อมบังเกิดเพราะอาศัยความต่างแห่งความเร่าร้อน

๙.  ความต่างแห่งความได้ ย่อมบังเกิดเพราะอาศัยความต่างแห่งความแสวงหา

ธรรม ๑๐ อย่างแทงตลอดได้ยาก ได้แก่

อริยวาส ๑๐ คือ

๑.  ละองค์ ๕ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ ความสงสัยลังเลได้แล้ว

๒.  ประกอบด้วยองค์ ๖ คือ ไม่ยินดียินร้าย เป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ในการรับรู้ผัสสะทางอายตนะทั้ง ๖

๓.  มีธรรมอย่างเดียวเป็นเครื่องรักษา คือ สติ

๔.  มีธรรมเป็นพนักพิง ๔ ด้าน คือ พิจารณาแล้วเสพ พิจารณาแล้วอดกลั้น พิจารณาแล้วเว้น และพิจารณาแล้วบรรเทา

๕.  มีสัจจะเฉพาะอันบรรเทาแล้วจากการยึดถือความเป็นจริงเพียงบางส่วนของสมณพราหมณ์เป็นอันมาก

๖.  มีความแสวงหาทุกอย่างอันสละแล้วโดยชอบ คือ ละการแสวงหากาม ละการแสวงหาภพ ละการแสวงหาพรหมจรรย์

๗.  มีความดำริไม่ขุ่นมัว คือ ละความดำริในกาม ความดำริ ในความพยาบาท ความดำริในความเบียดเบียน

๘.  มีกายสังขารอันระงับแล้ว คือ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขา และสติบริสุทธิ์อยู่

๙.  มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว คือ พ้นแล้วจากราคะ โทสะ โมหะ

๑๐. มีปัญญาหลุดพ้นดีแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ราคะ  โทสะ โมหะ มีรากอันเราถอนขึ้นแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา

ธรรมควรให้เกิดขึ้น

ธรรมอย่างหนึ่งควรให้บังเกิดขึ้น คือ

ญาณที่ไม่กำเริบ

ธรรม ๒ อย่างควรให้บังเกิดขึ้น คือ

ญาณในความสิ้นไป และญาณในความไม่บังเกิดขึ้น

ธรรม ๓ อย่างควรให้บังเกิดขึ้น คือ

อตีตังสญาณ ๑
อนาคตังสญาณ ๑
ปัจจุปันนังสญาณ ๑

ธรรม ๔ อย่างควรให้บังเกิดขึ้น คือ

ญาณในธรรม ๑
ญาณในความคล้อยตาม ๑
ญาณในความกำหนด ๑
ญาณในสมมติ ๑

ธรรม ๕ อย่างควรให้บังเกิดขึ้น คือ

สมาธิมีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบาก ๑
สมาธิเป็นอริยะไม่มีอามิส ๑
สมาธิอันบุรุษผู้ไม่ต่ำช้าเสพแล้ว ๑
สมาธิสงบ ประณีต มีปฏิปัสสัทธิอันได้แล้ว ถึงความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ๑
มีสติเข้าสมาธิ มีสติออกจากสมาธิ ๑

ธรรม ๖ อย่างควรให้บังเกิดขึ้น คือ

ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่
ในการเห็นรูปด้วยจักษุ ๑
ฟังเสียงด้วยหู ๑
ลิ้มรสด้วยลิ้น ๑
สูดกลิ่นด้วยจมูก ๑
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ๑
รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ๑

ธรรม ๗ อย่างควรให้บังเกิดขึ้น ได้แก่

สัญญา ๗ คือ
อนิจจสัญญา ๑ อนัตตสัญญา ๑
อสุภสัญญา ๑ อาทีนวสัญญา ๑
ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑  นิโรธสัญญา ๑

ธรรม ๘ อย่างควรให้บังเกิดขึ้น ได้แก่

มหาปุริสวิตก ๘ คือ

๑.  ธรรมนี้ของผู้มีความปรารถนาน้อย
๒.  ธรรมนี้ของผู้สันโดษ
๓.  ธรรมนี้ของผู้สงัด
๔.  ธรรมนี้ของผู้ปรารภความเพียร
๕.  ธรรมนี้ของผู้เข้าไปตั้งสติไว้
๖.  ธรรมนี้ของผู้มีจิตตั้งมั่น
๗.  ธรรมนี้ของผู้มีปัญญา
๘.  ธรรมนี้ของผู้ไม่มีธรรมเป็นเครื่องหน่วงให้ เนิ่นช้าเป็นที่มายินดี

ธรรม ๙ อย่างควรให้บังเกิดขึ้น ได้แก่

สัญญา ๙ คือ

ความกำหนดหมายว่าสังขารไม่งาม ๑
ความกำหนดหมายในความตาย ๑
ความกำหนดหมายในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล ๑
ความกำหนดหมายความไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ๑
ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง ๑
ความกำหนดหมายในสิ่งไม่เที่ยงว่าเป็นทุกข์ ๑
ความกำหนดหมายในทุกข์ว่าไม่ใช่ตัวตน ๑
ความกำหนดหมายในการละ ๑
ความกำหนดหมายในวิราคธรรม ๑

ธรรม ๑๐ อย่างควรให้บังเกิดขึ้น ได้แก่

สัญญา ๑๐ คือ

ความกำหนดหมายว่าสังขารไม่งาม ๑
ความกำหนดหมายในความตาย ๑
ความกำหนดหมายในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล ๑
ความกำหนดหมายความไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ๑
ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง ๑
ความกำหนดหมายในสิ่งไม่เที่ยงว่าเป็นทุกข์ ๑
ความกำหนดหมายในทุกข์ว่าไม่ใช่ตัวตน ๑
ความกำหนดหมายในการละ ๑
ความกำหนดหมายในวิราคธรรม ๑
ความกำหนดหมายในความดับ ๑

ธรรมควรรู้ยิ่ง

ธรรมอย่างหนึ่งควรรู้ยิ่ง คือ

สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีอาหารเป็นที่ตั้ง

ธรรม ๒ อย่างควรรู้ยิ่ง คือ

สังขตธาตุ และอสังขตธาตุ

ธรรม ๓ อย่างควรรู้ยิ่ง คือ

กามธาตุ ๑
รูปธาตุ ๑
อรูปธาตุ ๑

ธรรม ๔ อย่างควรรู้ยิ่ง คือ

ทุกขอริยสัจ ๑
ทุกขสมุทัยอริยสัจ ๑
ทุกขนิโรธอริยสัจ ๑
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ๑

ธรรม ๕ อย่างควรรู้ยิ่ง คือ

วิมุตตายตนะ การรู้อรรถ รู้ธรรมทั่วถึง ปราโมทย์ย่อมเกิด ปีติย่อมเกิด กายย่อมสงบ ย่อมได้เสวยสุข จิตย่อมตั้งมั่นด้วย

การได้ฟังธรรมจากพระศาสดา ๑
การได้ฟังธรรมจากครูอาจารย์ ๑
การสาธยายธรรม ๑
การตรึกตาม ตรอง เพ่งตามธรรม ๑
การแทงตลอดสมาธินิมิตด้วยปัญญา ๑

ธรรม ๖ อย่างควรรู้ยิ่ง คือ

ทัสสนานุตตริยะ ๑ (การเห็นอันยอดเยี่ยม)
สวนานุตตริยะ ๑ (การฟังอันยอดเยี่ยม)
ลาภานุตตริยะ ๑ (การได้ลาภอันยอดเยี่ยม)
สิกขานุตตริยะ ๑ (การศึกษาอันยอดเยี่ยม)
ปริจริยานุตตริยะ ๑ (การบำรุงอันยอดเยี่ยม)
อนุสสตานุตตริยะ ๑ (การระลึกอันยอดเยี่ยม)

ธรรม ๗ อย่างควรรู้ยิ่ง ได้แก่

นิททสวัตถุ ๗ คือ
เป็นผู้มีฉันทะกล้าในการสมาทานสิกขา ๑
มีฉันทะกล้าในการพิจารณาธรรม ๑
มีฉันทะกล้าในการกำจัดความอยาก ๑
มีฉันทะกล้าในการหลีกออกเร้นอยู่ ๑
มีฉันทะกล้าในการปรารภความเพียร ๑
มีฉันทะกล้าในสติและปัญญาเครื่องรักษาตน ๑
มีฉันทะกล้าในการแทงตลอดด้วยอำนาจความเห็น ๑

ธรรม ๘ อย่างควรรู้ยิ่ง ได้แก่

อภิภายตนะ ๘

๑. สำคัญในรูปภายใน เห็นรูปในภายนอกที่เล็ก ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้วว่า เรารู้ เราเห็น

๒. สำคัญในรูปภายใน เห็นรูปในภายนอกที่ใหญ่ ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้วว่า เรารู้ เราเห็น

๓. สำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปในภายนอกที่เล็ก ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้วว่า เรารู้ เราเห็น

๔. สำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปในภายนอกที่ใหญ่ ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้วว่า เรารู้ เราเห็น

๕. สำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปในภายนอกสีเขียว ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้วว่า เรารู้ เราเห็น

๖. สำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปในภายนอกสีเหลือง ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้วว่า เรารู้ เราเห็น

๗.  สำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปในภายนอกสีแดง ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้วว่า เรารู้ เราเห็น

๘.  สำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปในภายนอกสีขาว ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้วว่า เรารู้ เราเห็น

ธรรม ๙ อย่างควรรู้ยิ่ง ได้แก่

อนุปุพพวิหาร ๙ คือ

๑. ปฐมฌาน
๒. ทุติยฌาน
๓. ตติยฌาน
๔. จตุตถฌาน
๕. อากาสานัญจายตนฌาน
๖. วิญญาณัญจายตนฌาน
๗. อากิญจัญญายตนฌาน
๘. เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
๙. สัญญาเวทยิตนิโรธ

ธรรม ๑๐ อย่างควรรู้ยิ่ง ได้แก่

นิชชิณวัตถุ ๑๐ คือ

ความเห็นผิด อันบุคคลผู้เห็นชอบย่อมละได้ ๑

ความดำริผิด อันบุคคลผู้ดำริชอบย่อมละได้ ๑

การเจรจาผิด อันบุคคลผู้เจรจาชอบย่อมละได้ ๑

การงานผิด อันบุคคลผู้ทำการงานชอบย่อมละได้ ๑

การเลี้ยงชีพผิด อันบุคคลผู้เลี้ยงชีพชอบย่อมละได้ ๑

ความพยายามผิด อันบุคคลผู้พยายามชอบย่อมละได้ ๑

ความระลึกผิด อันบุคคลผู้ระลึกชอบย่อมละได้ ๑

ความมีใจตั้งไว้ผิด อันบุคคลผู้ตั้งใจชอบย่อมละได้ ๑

ความรู้ผิด อันบุคคลผู้รู้ชอบย่อมละได้ ๑

ความหลุดพ้นผิด อันบุคคลผู้พ้นชอบย่อมละได้ ๑

อนึ่ง อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยที่บังเกิด เพราะปฏิปทาผิดเป็นปัจจัย เขาก็ละได้

ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อยย่อมเจริญบริบูรณ์ เพราะมีปฏิปทาชอบเป็นปัจจัย

ธรรมควรทำให้แจ้ง

ธรรมอย่างหนึ่งควรทำให้แจ้ง คือ

เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ

ธรรม ๒ อย่างควรทำให้แจ้ง คือ

วิชชา และวิมุตติ

ธรรม ๓ อย่างควรทำให้แจ้ง คือ

ระลึกถึงชาติหนหลังได้ ๑
รู้ในการจุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย ๑
ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ๑

ธรรม ๔ อย่างควรทำให้แจ้ง คือ

โสดาปัตติผล ๑
สกทาคามิผล ๑
อนาคามิผล ๑
อรหัตตผล ๑

ธรรม ๕ อย่างควรทำให้แจ้ง คือ

ธรรมขันธ์ ได้แก่
สีลขันธ์ ๑
สมาธิขันธ์ ๑
ปัญญาขันธ์ ๑
วิมุตติขันธ์ ๑
วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ๑

ธรรม ๖ อย่างควรทำให้แจ้ง คือ อภิญญา ๖

๑. บรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตก เหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศ เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ๑

๒. ย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์

๓. ย่อมรู้กำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ

จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ
หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ

จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ
หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ

จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ
หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ

จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่
จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน

จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต
หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต

จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า
หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า

จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ
หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ

จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น
หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น

๔. ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก

๕. ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม

๖. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเทียวเข้าถึงอยู่

ธรรม ๗ อย่างควรทำให้แจ้ง ได้แก่

กำลังของพระขีณาสพ คือ การเห็นด้วยปัญญา อันชอบตามเป็นจริงว่า

๑.  สังขารทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง
๒.  กามทั้งหลายเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง
๓.  ยินดียิ่งในเนกขัมมะและวิเวก
๔.  อบรมสติปัฏฐาน ๔ ดีแล้ว
๕.  อบรมอินทรีย์ ๕ ดีแล้ว
๖.  อบรมโพชฌงค์ ๗ ดีแล้ว
๗. อบรมอริยมรรคมีองค์ ๘ ดีแล้ว

ธรรม ๘ อย่างควรทำให้แจ้ง ได้แก่

วิโมกข์ ๘

๑. บุคคลเห็น รูป ทั้งหลาย

๒. ผู้หนึ่งมีความสำคัญใน อรูปภายใน เห็นรูปภายนอก

๓. บุคคลย่อมน้อมใจไปว่า สิ่งนี้งาม ทีเดียว

๔. เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญา เพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพราะไม่ใส่ใจซึ่งนานัตตสัญญา บุคคลย่อมเข้าถึง อากาสานัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้อยู่

๕. เพราะล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนะ บุคคลย่อมเข้าถึง วิญญาณัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้อยู่

๖. เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนะ บุคคลย่อมเข้าถึง อากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร ๆ

๗. เพราะล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนะ บุคคลย่อมเข้าถึง เนวสัญญายตนะ อยู่

๘. เพราะล่วงเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะ บุคคลย่อมเข้าถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ อยู่

ธรรม ๙ อย่างควรทำให้แจ้ง ได้แก่

อนุปุพพนิโรธ ๙ คือ

๑. เมื่อเข้าปฐมฌาน กามสัญญาดับ
๒. เมื่อเข้าทุติยฌาน วิตกวิจารดับ
๓. เมื่อเข้าตติยฌาน ปีติดับ
๔. เมื่อเข้าจตุตถฌาน ลมอัสสาสะ-ปัสสาสะดับ
๕. เมื่อเข้าอากาสานัญจายตนฌาน รูปสัญญาดับ
๖. เมื่อเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน อากาสานัญจายตนสัญญาดับ
๗. เมื่อเข้าอากิญจัญญายตนฌาน วิญญาณัญจายตนสัญญาดับ
๘. เมื่อเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อากิญจัญญายตนะดับ
๙. เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาดับ

ธรรม ๑๐ อย่างควรทำให้แจ้ง ได้แก่

อเสขธรรม ๑๐ คือ

ความเห็นชอบ ของพระอเสขะ
ความดำริชอบ ของพระอเสขะ
การเจรจาชอบ ของพระอเสขะ
การงานชอบ ของพระอเสขะ
การเลี้ยงชีพชอบ ของพระอเสขะ
ความพยายามชอบ ของพระอเสขะ
การระลึกชอบ ของพระอเสขะ
ความมีใจตั้งมั่นชอบ ของพระอเสขะ
ความรู้ชอบ ของพระอเสขะ
ความหลุดพ้นชอบ ของพระอเสขะ

 

 

เรียบเรียงจาก: ทสุตตรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๑๑/๓๖๔-๔๗๓/๒๕๑-๒๘๘

ดาวน์โหลด e-book ยอดธรรมเพื่อการหลุดพ้น