ระบบปฏิบัติธรรม

สามัญญผลสูตร

ศีลขันธ์

อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าผู้พร้อมด้วยศีล

จุลศีล

๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรามีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวัง ประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ...

มัชฌิมศีล

๑. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม คือ พืชเกิดแต่เง่า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ด เป็นที่ครบห้า ...

มหาศีล

๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ...
ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว
ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหน ๆ เพราะศีลสังวรนั้น
ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้
ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน
ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

อินทรียสังวร

อย่างไรภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุ ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องสัมผัสด้วยกาย
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ

เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์
มนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมครอบงำได้



ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน

ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

สติสัมปชัญญะ

อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว
ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร
ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง

ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ

สันโดษ

อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ

นกมีปีกจะบินไปทางทิศใด ๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไป ฉันใด

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง
เธอจะไปทางทิศาภาคใด ๆ ก็ถือไปได้เอง ฉันนั้น

ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ
ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ และสันโดษอันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัต
เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า

.

.

.

การละนิวรณ์ ๕

เธอละ ความเพ่งเล็ง ในโลก
มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้

ละความประทุษร้ายคือ พยาบาท ไม่คิดพยาบาท
มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาทได้

ละ ถีนมิทธะ แล้ว
เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง
มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้

ละ อุทธัจจกุกกุจจะ แล้ว
เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้

ละ วิจิกิจฉา แล้ว
เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้

ละนิวรณ์

.

.

.

เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์
เมื่อปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ
เธอมีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

รูปฌาน ๔

ปฐมฌาน

เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง

ทุติยฌาน

ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตก วิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
เธอย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง

ตติยฌาน

ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่าผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง

จตุตถฌาน

ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง

วิชชา ๘

(อภิปัญญา)

ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้

.

.

.

วิปัสสนาญาณ

แจ่มแจ้งว่ากายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่เป็นตน

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูป
ประกอบด้วยมหาภูต ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ
ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้

มโนมยิทธิญาณ

แจ่มแจ้งว่าจิตนี้สามารถถอดออกจากกายได้

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูป
อันเกิดแต่ใจ คือ นิรมิตกายอื่นจากกายนี้
มีรูปเกิดแต่ใจ
มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน
มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง

อิทธิวิธีญาณ

แจ่มแจ้งว่าจิตสามารถน้อมธาตุให้เป็นไปได้ตามปรารถนา

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้
ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายก็ได้ ทะลุฝากำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้
ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้
เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้
ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้
ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

ทิพยโสติญาณ

แจ่มแจ้งว่าเสียงมีทั้งเสียงในโลกนี้ และเสียงทิพย์แห่งสวรรค์

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ
เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ
เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์
ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตธาตุ
อันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์

เจโตปริยญาณ

แจ่มแจ้งว่าจิตใจทั้งหลายเจตสิกเป็นองค์ประกอบ จึงเข้าใจจิตใจทั้งปวงอย่างลึกซึ้ง

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ

จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ
จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ
จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ
จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
จิตเป็นมหรรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรรคต หรือจิตไม่เป็นมหรรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรรคต
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ
จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น

ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

แจ่มแจ้งว่าจิตใจมีวิวัฒนาการมายาวนาน ทั้งเห็นรายละเอียด
ความเป็น ความอยู่ ความสัมพันธ์ และพัฒนาการในแต่ละชาติ

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง
สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง… สิบชาติบ้าง... ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง

ว่าในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

จุตูปปาตญาณ

แจ่มแจ้งว่า เจตนาสร้างวาจาและการกระทำ มีพลังต่อผู้อื่น ระบบ และสิ่งแวดล้อม

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ
ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้

เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้

อาสวักขยญาณ

แจ่มแจ้งว่า ธรรมทั้งปวงไม่เป็นตน

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า
นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา

เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี