Main navigation

ธรรม ๕ อย่างที่มีอุปการะมาก คือ

เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต ๑
เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีทุกข์น้อย ๑
เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา กระทำตนให้แจ้งตามเป็นจริง  ๑
มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ๑
เป็นผู้มีปัญญา อันเห็นความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ๑

ธรรม ๕ อย่างควรให้เจริญ คือ

สัมมาสมาธิ อันประกอบด้วย
ปีติแผ่ไป ๑
สุขแผ่ไป ๑
การกำหนดใจผู้อื่นแผ่ไป ๑
แสงสว่างแผ่ไป ๑
นิมิตเป็นเครื่องพิจารณา ๑

ธรรม ๕ อย่างควรกำหนดรู้ คือ

อุปาทานในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ธรรม ๕ อย่างควรละ คือ

กาม ๑
พยาบาท ๑
ความหดหู่ ๑
ความฟุ้งซ่าน ๑
ความสงสัยลังเล ๑

ธรรม ๕ อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม คือ

ความเคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา ๑
ความเคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจ ไม่เลื่อมใสในพระธรรม ๑
ความเคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจ ไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ ๑
ความเคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจ ไม่เลื่อมใสในการศึกษา ๑
เป็นผู้โกรธ มีใจไม่แช่มชื่น ขัดใจ มีใจกระด้าง ๑

ธรรม ๕ อย่างเป็นไปในส่วนข้างวิเศษ คือ

ศรัทธา ๑ วิริยะ ๑ สติ ๑ สมาธิ ๑ ปัญญา ๑

ธรรม ๕ อย่างแทงตลอดได้ยาก คือ

เนกขัมมะ พรากแล้วจากกามทั้งหลาย ๑
ความไม่พยาบาท พรากแล้วจากความพยาบาท ๑
ความไม่เบียดเบียน พรากแล้วจากความเบียดเบียน ๑
อรูป พรากแล้วจากรูปทั้งหลาย ๑
ความดับกายของตน พรากแล้วจากกายของตน ๑

ธรรม ๕ อย่างควรให้บังเกิดขึ้น คือ

สมาธิมีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบาก ๑
สมาธิเป็นอริยะไม่มีอามิส ๑
สมาธิอันบุรุษผู้ไม่ต่ำช้าเสพแล้ว ๑
สมาธิสงบ ประณีต มีปฏิปัสสัทธิอันได้แล้ว ถึงความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ๑
มีสติเข้าสมาธิ มีสติออกจากสมาธิ ๑

ธรรม ๕ อย่างควรรู้ยิ่ง คือ

วิมุตตายตนะ การรู้อรรถ รู้ธรรมทั่วถึง ปราโมทย์ย่อมเกิด ปีติย่อมเกิด กายย่อมสงบ ย่อมได้เสวยสุข จิตย่อมตั้งมั่นด้วย

การได้ฟังธรรมจากพระศาสดา ๑
การได้ฟังธรรมจากครูอาจารย์ ๑
การสาธยายธรรม ๑
การตรึกตาม ตรอง เพ่งตามธรรม ๑
การแทงตลอดสมาธินิมิตด้วยปัญญา ๑

ธรรม ๕ อย่างควรทำให้แจ้ง คือ

ธรรมขันธ์ ได้แก่
สีลขันธ์ ๑
สมาธิขันธ์ ๑
ปัญญาขันธ์ ๑
วิมุตติขันธ์ ๑
วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ๑