ธรรม ๖ อย่างที่มีอุปการะมาก
กระทำให้เป็นที่รัก ให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ
ตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑
ตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑
ตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑
แบ่งปันลาภอันประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม กับเพื่อนพรหมจรรย์ ผู้มีศีลทั้งหลาย ๑
มีศีลเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญแล้ว อันตัณหาและทิฐิไม่แตะต้องแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑
มีทิฐิอันประเสริฐ นำออกจากทุกข์ นำผู้ปฏิบัติตามเพื่อ ความสิ้นทุกข์โดยชอบ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑
ธรรม ๖ อย่างควรให้เจริญ คือ
ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ๑
ระลึกถึงคุณพระธรรม ๑
ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ ๑
ระลึกถึงศีล ๑
ระลึกถึงทานที่ตนบริจาค ๑
ระลึกถึงคุณที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา ๑
ธรรม ๖ อย่างควรกำหนดรู้ คือ
ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑
ธรรม ๖ อย่างควรละ คือ
ตัณหาในรูป ๑
ตัณหาในเสียง ๑
ตัณหาในกลิ่น ๑
ตัณหาในรส ๑
ตัณหาในโผฏฐัพพะ ๑
ตัณหาในธรรมารมณ์ ๑
ธรรม ๖ อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม คือ
ไม่มีความเคารพ ไม่เชื่อฟัง
ในพระศาสดา ๑
ในพระธรรม ๑
ในพระสงฆ์ ๑
ในความศึกษา ๑
ในความไม่ประมาท ๑
ในปฏิสันถาร (การสนทนา) ๑
ธรรม ๖ อย่างเป็นไปในส่วนข้างวิเศษ คือ
ความเคารพ เชื่อฟัง
ในพระศาสดา ๑
ในพระธรรม ๑
ในพระสงฆ์ ๑
ในความศึกษา ๑
ในความไม่ประมาท ๑
ในปฏิสันถาร (การสนทนา) ๑
ธรรม ๖ อย่างแทงตลอดได้ยาก คือ
เมตตาเจโตวิมุตติ เป็นที่สลัดออกจากพยาบาท ๑
กรุณาเจโตวิมุตติ เป็นที่สลัดออกจากการเบียดเบียน ๑
มุทิตาเจโตวิมุตติ เป็นที่สลัดออกจากอรติ (ความไม่พอใจ) ๑
อุเบกขาเจโตวิมุตติ เป็นที่สลัดออกจากราคะ ๑
เจโตวิมุตติอันหานิมิตมิได้ เป็นที่สลัดออกจากนิมิตทั้งปวง ๑
ความถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะ เป็นที่สลัดออกจากลูกศร คือ ความเคลือบแคลงสงสัย ๑
ธรรม ๖ อย่างควรให้บังเกิดขึ้น คือ
ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่
ในการเห็นรูปด้วยจักษุ ๑
ฟังเสียงด้วยหู ๑
ลิ้มรสด้วยลิ้น ๑
สูดกลิ่นด้วยจมูก ๑
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ๑
รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ๑
ธรรม ๖ อย่างควรรู้ยิ่ง คือ
ทัสสนานุตตริยะ ๑ (การเห็นอันยอดเยี่ยม)
สวนานุตตริยะ ๑ (การฟังอันยอดเยี่ยม)
ลาภานุตตริยะ ๑ (การได้ลาภอันยอดเยี่ยม)
สิกขานุตตริยะ ๑ (การศึกษาอันยอดเยี่ยม)
ปริจริยานุตตริยะ ๑ (การบำรุงอันยอดเยี่ยม)
อนุสสตานุตตริยะ ๑ (การระลึกอันยอดเยี่ยม)
ธรรม ๖ อย่างควรทำให้แจ้ง คือ อภิญญา ๖
๑. บรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตก เหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศ เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ๑
๒. ย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์
๓. ย่อมรู้กำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ
จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ
หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ
จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ
หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ
จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ
หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ
จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต
หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า
หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ
หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ
จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น
หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น
๔. ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก
๕. ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม
๖. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเทียวเข้าถึงอยู่