Main navigation

การก้าวผ่านวิกฤตโรคระบาด

วิกฤตโรคระบาด

ไชย ณ พล
จัดทำโดย มูลนิธิอุทยานธรรม


ตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมัน วิกฤตโรคระบาดจะเกิดเฉลี่ย 500 ปีครั้ง ต่อมาสมัยอาณาจักรยุโรป วิกฤตโรคระบาดจะเกิดเฉลี่ย 100 ปีครั้ง  ปัจจุบันเฉลี่ย 10 ปีครั้ง

พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อหมู่มนุษย์มีโมหะกันโดยมาก ย่อมเกิดโรคร้าย(1) จึงได้เข้าไปดูในประวัติศาสตร์ว่าอะไรเป็นสาเหตุของโรคระบาดแต่ละครั้ง จาก World Health Organization และสืบค้นสารพัดประวัติศาสตร์เท่าที่มีบันทึกอยู่มาปะติดปะต่อกัน พบดังนี้


ประวัติการณ์โรคระบาดในโลก เท่าที่ปรากฏในบันทึกต่าง ๆ

สถิติการเกิดโรคระบาด

 

สมุทัยประกอบ สมุทัยหลัก

จะเห็นได้ว่าโรคระบาดทั้งหลายเกิดจากเชื้อที่มาจากสัตว์ เชื้อทั้งหลายเป็นสิ่งที่มีเป็นปกติในสัตว์ทั้งหลายอยู่แล้ว เชื้อเหล่านั้นจึงเป็นเพียงปัจจัยหรือสมุทัยประกอบเท่านั้น การแก้แค่ปัจจัยแก้มาหลายยุคแล้ว ไม่นานปัญหาใหม่ก็มาอีกตราบที่สมุทัยหลักยังคงอยู่

สมุทัยหลักหรือเหตุที่แท้จริงคือการที่มนุษย์ละเมิดข้ามภพภูมิ มนุษย์อยู่ในภพภูมิมนุษย์ สัตว์อยู่ในภพภูมิเดรัจฉาน ไม่มีที่อื่นใดในจักรวาลที่มีการละเมิดภพภูมิกันอย่างเป็นกิจลักษณะเพราะผิดกฎจักรวาล มีแต่หมู่มนุษย์นี่เองที่ละเมิดภพภูมิเดรัจฉานนานาประการ คือ

1.  เอาสัตว์มาเป็นอาหาร จึงละเมิดชีวิต
2.  เอาสัตว์มาเลี้ยงเป็นของเล่น จึงละเมิดอิสรภาพ
3.  เอาสัตว์มาทำยา จึงละเมิดอวัยวะ
4.  เอาสัตว์มาเป็นสินค้า จึงละเมิดศักดิ์ศรีแห่งภพภูมิ

การละเมิดทั้งหมดเป็นพฤติกรรมมาจากสมุทัยหลักเดียวกันคือ “โมหะ” ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว จึงรับเชื้อมาจากสัตว์เนือง ๆ และเกิดโรคระบาดเป็นระยะ ๆ ในโลก และจะเกิดขึ้นอีกตราบที่มนุษย์ไม่ดับ “โมหะ” สมุทัยหลัก


วิธีแก้ไขและป้องกันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ดับโมหะ ห้ามพฤติกรรมละเมิดภพภูมิเดรัจฉานทั้งปวงเสียให้ขาด เพราะผิดกฎแห่งกรรมอันเป็นกฎจักรวาล


วิธีป้องกันและแก้ไขท่ามกลางวิกฤต

ประการที่หนึ่ง - เลิกเบียดเบียนสัตว์

เลิกเบียดเบียนสัตว์ด้วยตนเอง และไม่ร่วมกับผู้เบียดเบียนสัตว์ ทั้งไม่ยินดีเมื่อมีใครเบียดเบียนสัตว์ หากข้องเกี่ยวด้วย ให้ห้ามปราม 2 ครั้ง โดยไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะร่วม การกระทำเช่นนี้จะทำให้ไม่มีกรรมต่อสัตว์

ประการที่สอง - แผ่เมตตา

เวลาแผ่เมตตาประจำวัน แผ่ให้สรรพจิตทั้งปวงในทุกจักรวาล ซึ่งจะครอบคลุมสัตว์เดรัจฉานทุกเผ่าพันธุ์ด้วย จะทำให้มีคลื่นสัมพันธ์ที่ดี

ประการที่สาม - ไม่กลัว

ไม่กลัว ความกลัวจะทำให้พลังในตัวลดลง เมื่อพลังลด ภูมิคุ้มกันก็ลด

ประการที่สี่ - ไม่ประมาท

ไม่ประมาท ถึงพลังดีแค่ไหนก็ไม่ต้องบ้าท้าทาย เปิดรับความเสี่ยงใด ๆ ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันที่การสาธารณสุขแนะนำเสมอ

ประการที่ห้า - เพิ่มภูมิคุ้มกัน

ทานอาหารเพิ่มภูมิเป็นประจำ ออกกำลังกายเพิ่มภูมิเป็นประจำ หายใจอากาศบริสุทธิ์เพิ่มภูมิประจำ ปฏิบัติสมาธิเพิ่มภูมิเป็นประจำ

ประการที่หก - ไม่หวั่นไหวหากรับเชื้อ

หากเผลอรับเชื้อมา ก็เข้ารับการตรวจรักษาตามปกติ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยไม่ต้องตกใจหวั่นไหวใด ๆ แท้จริง ไวรัสเป็นชีวิตที่อ่อนแอที่สุดในห่วงโซ่อาหาร ทำจิตใจและร่างกายให้แข็งแรงต่อเนื่องเสมอ

ประการที่เจ็ด - เป็นสุข

ทำจิตใจให้เป็นสุข ปีติเป็นธรรมโอสถ
สวดมนต์ มนต์ที่สวดด้วยสมาธิย่อมมีพลังตามปรารถนา
ปฏิบัติธรรมให้มาก ธรรมเป็นธรรมโอสถ

ประการที่แปด - ไม่คลุกคลี

เจริญรักครอบครัวแบบห่างไกลด้วยเมตตาบริสุทธิ์ซึ่งหมดจดกว่ารักแบบคลุกคลี ดังนั้น ยิ่งรักใครยิ่งไม่คลุกคลี เคารพความเป็นส่วนตัวของกันและกัน  

ประการที่เก้า - ทำจิตให้บริสุทธิ์

พร้อมอยู่พร้อมตาย จิตที่เป็นสังขารุเปกขาญาณจะหายเร็ว ไม่หายก็ตายสบายและไปดี จะไปเมื่อไรไม่สำคัญ สำคัญที่สุดคือไปให้สูงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ดังนั้น ทำจิตให้บริสุทธิ์ที่สุด

ประการที่สิบ - ทำพินัยกรรม

หากมีสมบัติอะไรก็ทำพินัยกรรมเสีย จะได้ไม่โยนปัญหาให้ลูกหลานไปเขม่นแตกแยกกันและบ่นด่าเราในภายหลัง

ประการที่สิบเอ็ด - ผันประสบการณ์ให้เป็นปัญญา

โอกาสหายมีมากกว่าโอกาสตายนับร้อยเท่า เมื่อหาย และผ่านประสบการณ์ใกล้ตายมาแล้ว ใช้โอกาสนั้นเปลี่ยนปัญญาแห่งชีวิต กลั่นหาแก่นสารที่แท้จริงของชีวิต ความสัมพันธ์ การงาน และวิวัฒนาการให้เจอ แล้วเปลี่ยนวิถีชีวิต วิถีการทำงาน วิถีความสัมพันธ์ใหม่ให้ล้ำค่ากว่าเดิม จะได้ชีวิตใหม่ในร่างเดิม จึงคุ้มค่าความเจ็บปวดที่ผ่านมา


โอกาสในวิกฤต

วิกฤตทั้งหลายเป็นทั้งข้อจำกัดและโอกาส เช่น

ประการที่หนึ่ง

เมื่อมนุษย์ Globalized เชื้อโรคก็ Globalized ไปพร้อมมนุษย์ด้วย การออกสู่ภายนอกและการคลุกคลีเป็นความเสี่ยง จึงเป็นโอกาสดีที่จะเข้าวิเวกเข้าสมาธิยาวให้เพลินเลย

ประการที่สอง

เมตตาผู้ป่วย พึงแผ่เมตตาเจโตวิมุติ แผ่อริยสัจจญาณให้แก่ผู้ป่วยและหมู่มนุษย์ทั้งหลายผู้อยู่ในความเสี่ยง

ประการที่สาม

กรุณาต่อผู้อุทิศตนสงเคราะห์โลก ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ แพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครทั้งหลาย แผ่ความสุข แผ่บุญให้แก่ท่านเหล่านี้ ท่านก็ได้พลังพิเศษจากเราไปทำกิจสงเคราะห์โลกให้สำเร็จ เราก็ได้สมาธิกว้างใหญ่มั่นคงขึ้น

ประการที่สี่

พัฒนาเทคโนโลยีช่วยคลี่คลายสถานการณ์ เช่น Line ที่โลกใช้กัน ก็เกิดขึ้นเพราะผู้หวังดีสร้างขึ้นให้แก่ครอบครัวติดต่อกันได้ในช่วงซึนามิญี่ปุ่น และกลายเป็น Application ที่รักของชาวโลก และกลายเป็นธุรกิจที่เติบโตแพร่หลายในปัจจุบัน

ใครไม่แน่ใจว่าความสามารถจะเหมาะกับสถานการณ์หรือไม่ ก็บริจาคทรัพย์ให้แก่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลรัฐที่ดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายในการนี้อยู่นอกเหนืองบปกติ การทำบุญยามจำเป็นฉุกเฉินเพื่อความผาสุกมหาชน เป็นบุญแม่นยำที่ควรทำประการหนึ่ง

ประการที่ห้า

ตระหนักในความเปราะบางของเศรษฐกิจที่มีธรรมชาติเป็นอนัตตา ผันไปตามสถานการณ์ต่าง ๆ Pandemic สร้าง Economic Tsunami ต่อเนื่อง ใช้โอกาสนี้กลั่นกิจการ ปรับโครงสร้างธุรกิจให้เป็น “สัจธรรม Based Management” เลย จะได้ฉลาดขึ้น

ประการที่หก

ประจักษ์ความไม่มีค่าจริงของทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ราคาสะดุ้งสะดิ้ง ขึ้นลงทุกวันตามปรากฏการณ์บ้าง ตามความประสาทแห่งโมหะบ้าง ตามความหวังแห่งตัณหาบ้าง ซึ่งผู้ถือทรัพย์สินด้วยโมหะและตัณหาล้วนเจ็บปวดไปตาม ๆ กัน ใช้โอกาสนี้กลั่นการลงทุนให้เป็น “สัจธรรม Based Investment” เลย จะได้ไม่ต้องหวั่นไหวไปกับโลกใด ๆ

ประการที่เจ็ด

ประจักษ์ความจริงว่า อะไรที่รัฐผูกขาด คุณภาพมักต่ำ เช่น อิตาลี รัฐจัดสวัสดิการสุขภาพให้แบบ Universal Healthcare คือ รัฐดูแลทุกอย่าง ฟังดูดีแต่ประสิทธิภาพต่ำ อัตราการตายของผู้ติดเชื้อสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ดังนั้นจัดระบบสุขภาพแห่งชาติแบบ Integrated Healthcare System จะเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาการทางการแพทย์ดีกว่า ประชาชนได้ประโยชน์ตามความเหมาะสมกับตน

ประการที่แปด

พระโพธิสัตว์สิทธัตถะทรงเห็น คนแก่ 1 คน คนเจ็บ 1 คน คนตาย 1 คน นักบวช 1 คน ก็เพียงพอที่จะทำความเพียรเพื่อพ้นทุกข์จนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเห็นคนแก่หลายล้านคน คนเจ็บหลายแสนคน คนตายวันละหลายพันคน เกินพอแล้วที่จะทำความเพียรเพื่อพ้นทุกข์ทั้งปวง

ใครยังไม่มีสำนึกเจริญความเพียรเพื่อพ้นทุกข์อีก แสดงว่ามีอัธยาศัยถึกซาดิสต์ จะต้องเจ็บปวดเพราะทุกข์อีกแสนนาน

ประการที่เก้า

เจริญกรรมฐานที่เหมาะสมกับสถานการณ์ คือ สมถะ วิปัสสนา วิราคะ แผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขามหาศาล ไปยังทุกชีวิตจิตใจในโลกนี้และโลกอื่นที่เกี่ยวข้อง กำหนดรู้และยอมรับความเป็นจริงในทุกขสัจแห่งสังขารทั้งปวง ในอนิจจังแห่งโลกและชีวิตทั้งปวง ในอนัตตาแห่งสรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ทั้งปวง แน่วแน่ในการละวางโมหะอันจักแตกตัวเป็นโลภะและโทสะต่อเนื่องเสียให้สิ้นก่อนที่จะสายเกินไป

ประการที่สิบ

อื่น ๆ ตามสติปัญญาของแต่ละท่าน


โดยสรุป

อนิจจังเป็นปกติธรรมดาของโลก อนัตตาเป็นปกติธรรมดาของทุกสิ่ง ที่ท่านบังคับไม่ได้ แต่ที่ท่านบริหารจัดการได้ คือ กลยุทธ์การอยู่กับอนิจจังและอนัตตาทั้งปวงเหล่านั้น

เกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นเรื่องธรรมดาของตัณหาและสังขาร ส่วนจะเกิดอย่างไร แก่อย่างไร เจ็บอย่างไร ตายอย่างไรเป็นเรื่องของภูมิกรรม ภูมิจิต และภูมิธรรม แม้หลายอย่างท่านเลือกไม่ได้ แต่ที่ท่านเลือกได้คือ วิถีกอปรมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม ศีล สติ สมาธิ ปัญญา สัมมาธรรม วิมุติธรรม

ความตายมิได้มีเฉพาะผู้อื่นเท่านั้น แต่มีสำหรับสังขารของเราท่านทั้งหลาย ทุกคนไม่มียกเว้น ไหน ๆ ก็ต้องตายแน่ ใครตายเป็นและไปสูงสุดก็จบวิชาแห่งชีวิตโลก เมื่อจบแล้วก็ไม่ต้องมาเรียนซ้ำอีก

โลกคือสนามกีฬาวิวัฒนาการ ปัญหาและโอกาสมาพร้อมกัน ใครจะได้อะไรไปขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและสติปัญญาของท่านเอง

ขอให้ทุกท่านจงอยู่สบาย ตายเป็นสุข และไปสูงสุด เพราะนี่คือกำไรที่แท้จริงของการมาสู่โลกนี้

 

 

หมายเหตุ :
(1) คู่มือ อภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๑