Main navigation
ชรา
Share:

(๑) ชรา มรณะ เป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยใน ปฏิจสมุปบาท

(๑) ชรา คือ  ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ  

มรณะ คือ ความจุติความเคลื่อนไป ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทิ้งซากศพไว้ ความขาดไปแห่งชีวิตินทรีย์จากหมู่สัตว์นั้นๆ 

(๒) เมื่อใดบุคคลรู้ชัดซึ่งชราและมรณะ เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับชราและมรณะ และทางที่จะให้ถึงความดับชราและมรณะ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้

ก็ชราและมรณะ เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับชราและมรณะ ทางที่จะให้ถึงความดับชราและมรณะ เป็นไฉน?

เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ย่อมมีเพราะชาติเป็นเหตุให้เกิด ความดับชราและมรณะ ย่อมมีเพราะชาติดับ

อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ ความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบความตั้งใจชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับชราและมรณะ

เมื่อใดบุคคลรู้ชัดซึ่งชราและมรณะ เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ  ความดับชราและมรณะ  และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัย และมานานุสัย โดยประการทั้งปวง ละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ย่อมกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันเทียว

แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.

 

อ้างอิง : 
(๑) วิภังคสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๕-๗ หน้า ๒-๓
(๒) สัมมาทิฏฐิสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๑๘ หน้า ๖๖

 

 

คำต่อไป