(๑) ฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะรัก) เป็น ๑ ใน อคติ ๔
(๒) คำว่า ไม่พึงถึงฉันทาคติ นั้น ความว่า เมื่อถึงฉันทาคติ ถึงอย่างไร
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ คิดว่า
ท่านผู้นี้เป็นอุปัชฌาย์ของเรา เป็นอาจารย์ของเรา เป็นสัทธิวิหาริกของเรา เป็นอันเตวาสิกของเรา เป็นผู้ร่วมอุปัชฌาย์ของเรา เป็นผู้ร่วมอาจารย์ของเรา เป็นผู้เคยเห็นกันมากับเรา เป็นผู้เคยร่วมคบกันมากับเรา หรือท่านผู้นี้เป็นญาติสาโลหิตของเรา ดังนี้
เพื่ออนุเคราะผู้นั้น เพื่อตามรักษาท่านผู้นั้น
จึงแสดงอธรรมว่าธรรม แสดงธรรมว่าอธรรม
แสดงอวินัยว่าวินัย แสดงวินัยว่าอวินัย
แสดงสิ่งที่พระตถาคตไม่ได้ตรัสภาษิต ว่าพระตถาคตตรัสภาษิตแล้ว
แสดงสิ่งที่พระตถาคตตรัสภาษิตแล้ว ว่าพระตถาคตไม่ได้ตรัสภาษิต
แสดงสิ่งที่พระตถาคตไม่ได้ทรงประพฤติมา ว่าพระตถาคตทรงประพฤติมาแล้ว
แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงประพฤติมาแล้ว ว่าพระตถาคตไม่ได้ทรงประพฤติมา
แสดงสิ่งที่พระตถาคตไม่ได้ทรงบัญญัติว่าพระตถาคตทรงบัญญัติแล้ว
แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงบัญญัติแล้ว ว่าพระตถาคตไม่ได้ทรงบัญญัติ
แสดงอนาบัติว่าอาบัติ แสดงอาบัติว่าอนาบัติ
แสดงอาบัติเบาว่าอาบัติหนัก แสดงอาบัติหนักว่าอาบัติเบา
แสดงอาบัติมีส่วนเหลือว่าอาบัติไม่มีส่วนเหลือ
แสดงอาบัติไม่มีส่วนเหลือว่าอาบัติมีส่วนเหลือ
แสดงอาบัติชั่วหยาบว่าอาบัติไม่ชั่วหยาบ
แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่าอาบัติชั่วหยาบ
ภิกษุถึงฉันทาคติด้วยวัตถุ ๑๘ อย่างนี้ ย่อมปฏิบัติ เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความไม่เป็นสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อความพินาศแก่ชนหมู่มาก เพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ภิกษุผู้ถึงฉันทาคติด้วยวัตถุ ๑๘ อย่างนี้ ย่อมบริหารตนให้ถูกขุด ถูกกำจัด เป็นผู้ประกอบด้วยโทษ อันวิญญูชนพึงติเตียน และย่อมประสพบาปมิใช่บุญมาก
ภิกษุเมื่อถึงฉันทาคติ ย่อมถึงอย่างนี้