การปฏิบัติสมาธิเพื่อ 4 เป้าหมาย I สมาธิสูตร
พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติสมาธิเพื่อ 4 เป้าหมาย
สมาธิสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๔๑
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
เสียง : 20:35 นาที
ปฏิบัติ : 40 นาที
----------------
สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันมีอยู่ ๑
สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะมีอยู่ ๑
สมาธิภาวนาอันบุคคล เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ ๑
สมาธิภาวนา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะมีอยู่ ๑
ก็สมาธิภาวนาเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
สมาธิภาวนานี้ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ก็สมาธิภาวนาเพื่อได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มนสิการอาโลกสัญญา อธิษฐานทิวาสัญญาว่ากลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือน กลางคืน มีใจอันสงัด ปราศจากเครื่องรัดรึง อบรมจิตให้มีความสว่างอยู่
สมาธิภาวนานี้ย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ
ก็สมาธิภาวนาเพื่อสติสัมปชัญญะเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
รู้แจ้งเวทนาที่เกิดขึ้น
รู้แจ้งเวทนาที่ตั้งอยู่
รู้แจ้งเวทนาที่ดับไป
รู้แจ้งสัญญาที่เกิดขึ้น
รู้แจ้งสัญญาที่ตั้งอยู่
รู้แจ้งสัญญาที่ดับไป
รู้แจ้งวิตกที่เกิดขึ้น
รู้แจ้งวิตกที่ตั้งอยู่
รู้แจ้งวิตกที่ดับไป
สมาธิภาวนานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ
ก็สมาธิภาวนาเพื่อความสิ้นอาสวะเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีปรกติพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ว่า
รูปเป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้
ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้
เวทนาเป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นดังนี้
ความดับแห่งเวทนาเป็นดังนี้
สัญญาเป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นดังนี้
ความดับแห่งสัญญาเป็นดังนี้
สังขารเป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นดังนี้
ความดับแห่งสังขารเป็นดังนี้
วิญญาณเป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้
ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้
สมาธิภาวนานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ
ความหวั่นไหวไม่มีแก่บุคคลใดในโลกไหน ๆ เพราะรู้ความสูงต่ำในโลก
บุคคลนั้นเป็นผู้สงบปราศจากควัน คือ ความโกรธ
เป็นผู้ไม่มีความคับแค้น เป็นผู้หมดหวัง
เรากล่าวว่า ข้ามชาติและชราได้แล้ว