วิปัสสนาอายตนะ I อาทิตตปริยายสูตร
พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
วิปัสสนาอายตนะ
อาทิตตปริยายสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๕๕
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
เสียง : 18:23 นาที
ปฏิบัติ : 30 นาที
----------------
ครั้งเมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยา พร้อมด้วยภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป ล้วนเป็นปุราณชฎิล ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้...
สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน
จักษุ โสต ฆานะ (จมูก) ชิวหา (ลิ้น) กาย มนะ (ใจ) เป็นของร้อน
รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส โผฏฐัพพะ ธรรมทั้งหลายเป็นของร้อน
วิญญาณอาศัยจักษุ วิญญาณอาศัยโสต วิญญาณอาศัยฆานะ วิญญาณอาศัยชิวหา วิญญาณอาศัยกาย วิญญาณอาศัยมนะ เป็นของร้อน
สัมผัสอาศัยจักษุ สัมผัสอาศัยโสต สัมผัสอาศัยฆานะ สัมผัสอาศัยชิวหา สัมผัสอาศัยกาย สัมผัสอาศัยมนะเป็นของร้อน
ความเสวยอารมณ์เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานะสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เป็นปัจจัยก็เป็นของร้อน
ร้อนเพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ
ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และความตาย ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์กาย เพราะทุกข์ใจ เพราะความคับแค้น
อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้วเห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย มนะ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส โผฏฐัพพะ ทั้งหลาย
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณอาศัยจักษุ อาศัยโสต อาศัยฆานะ อาศัยชิวหา อาศัยกาย อาศัยมนะ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัมผัสอาศัยจักษุ อาศัยโสต อาศัยฆานะ อาศัยชิวหา อาศัยกาย อาศัยมนะ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานะสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เป็นปัจจัย
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี