Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

อาการ 32 I มหาราหุโลวาทสูตร

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
อาการ 32
มหาราหุโลวาทสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๓๓-๑๓๙

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

เสียง : 14:50 นาที
ปฏิบัติ : 30 นาที

----------------

ดูกรราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอดีต เป็นอนาคต และเป็นปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี รูปทั้งปวงนี้ เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นภายใน อาศัยตนเป็นของหยาบมีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน เป็นของหยาบมีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าปฐวีธาตุเป็นภายใน

ก็ปฐวีธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด ปฐวีธาตุนั้นเป็นปฐวีธาตุเหมือนกัน

ปฐวีธาตุนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่
ตนของเรา ดังนี้

เพราะบุคคลเห็นปฐวีธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว
ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในปฐวีธาตุ

ดูกรราหุล ก็อาโปธาตุเป็นไฉน

อาโปธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี

ก็อาโปธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน

สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นอาโป มีลักษณะเอิบอาบ อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน เป็นอาโป
มีลักษณะเอิบอาบ อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าอาโปธาตุเป็นภายใน

ก็อาโปธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด อาโปธาตุนั้นเป็นอาโปธาตุเหมือนกัน

อาโปธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้

เพราะบุคคลเห็นอาโปธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในอาโปธาตุ

ดูกรราหุล ก็เตโชธาตุเป็นไฉน

เตโชธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี

ก็เตโชธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน

สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นเตโช มีลักษณะร้อนอันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย และไฟที่เผาอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม ให้ย่อยไปโดยชอบ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น เป็นภายในอาศัยตน เป็นเตโช มีลักษณะร้อน อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าเตโชธาตุเป็นภายใน

ก็เตโชธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดีอันใด เตโชธาตุนั้นเป็นเตโชธาตุเหมือนกัน

เตโชธาตุนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้

เพราะบุคคลเห็นเตโชธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในเตโชธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในเตโชธาตุ

วาโยธาตุเป็นไฉน

วาโยธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี

ก็วาโยธาตุเป็นภายในเป็นไฉน

สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นวาโย มีลักษณะพัดไปมา อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น เป็นภายใน อาศัยตน เป็นวาโย พัดไปมา อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าวาโยธาตุเป็นภายใน

ก็วาโยธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด วาโยธาตุนั้นเป็นวาโยธาตุเหมือนกัน

วาโยธาตุนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้

เพราะบุคคลเห็นวาโยธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้วย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในวาโยธาตุ

ก็อากาสธาตุเป็นไฉน

อากาสธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี

อากาสธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตนเป็นอากาศ มีลักษณะว่าง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องคอสำหรับกลืนอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม และช่องสำหรับถ่ายอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม ออกเบื้องล่าง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน เป็นอากาศ มีลักษณะว่าง ไม่ทึบ มีลักษณะไม่ทึบเป็นช่อง มีลักษณะเป็นช่อง อันเนื้อและเลือดไม่ถูกต้อง เป็นภายใน อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าอากาสธาตุเป็นภายใน

ก็อากาสธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดีอันใด อากาสธาตุนั้นเป็นอากาศธาตุเหมือนกัน

อากาสธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้

เพราะบุคคลเห็นอากาสธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอากาสธาตุ จิต
ย่อมคลายกำหนัดในอากาสธาตุ

พระสูตร
มหาราหุโลวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๓๓-๑๓๙