Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

มหาสติ: ธรรม - อายตนะบรรพ

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
ธรรม - อายตนะบรรพ
มหาสติปัฏฐานสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๙๒

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

เสียง : 28:10 นาที
ปฏิบัติ : 60 นาที

----------------

ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อายตนะภายในและภายนอก ๖ อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมรู้จักนัยน์ตา รู้จักรูป
รู้จักหู รู้จักเสียง
รู้จักจมูก รู้จักกลิ่น
รู้จักลิ้น รู้จักรส
รู้จักกาย รู้จักสิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย
รู้จักใจ รู้จักธรรมารมณ์

และรู้จักว่า ตา-รูป หู-เสียง จมูก-กลิ่น ลิ้น-รส กาย-สิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย ใจ-ธรรมารมณ์ เป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์   

สังโยชน์ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย   

สังโยชน์ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง     
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง      
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง     
พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง     
พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง     
พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง

สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่

พระสูตร
มหาสติปัฏฐานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๙๒