Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

การเกิดดับแห่งขันธ์ห้า I สมาธิสูตร

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
การเกิดดับแห่งขันธ์ห้า
สมาธิสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๒๗

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

เสียง : 15:20 นาที
ปฏิบัติ : 30 นาที

----------------

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง

ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงอย่างไร

ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและความดับแห่งรูป
ความเกิดและความดับแห่งเวทนา
ความเกิดและความดับแห่งสัญญา 
ความเกิดและความดับแห่งสังขาร 
ความเกิดและความดับแห่งวิญญาณ

ก็อะไรเป็นความเกิดแห่งรูป 
อะไรเป็นความเกิดแห่งเวทนา
อะไรเป็นความเกิดแห่งสัญญา
อะไรเป็นความเกิดแห่งสังขาร
อะไรเป็นความเกิดแห่งวิญญาณ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่

ก็บุคคลย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ ซึ่งอะไร

ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึงย่อมดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เมื่อเพลิดเพลิน พร่ำถึง ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณความยินดีก็เกิดขึ้น

ความยินดีในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นเป็นอุปาทาน

เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั้น ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี่เป็นความเกิดแห่งรูป
นี่เป็นความเกิดแห่งเวทนา
นี่เป็นความเกิดแห่งสัญญา
นี่เป็นความเกิดแห่งสังขาร
นี่เป็นความเกิดแห่งวิญญาณ

ก็อะไรเป็นความดับแห่งรูป
อะไรเป็นความดับแห่งเวทนา
อะไรเป็นความดับแห่งสัญญา
อะไรเป็นความดับแห่งสังขาร
อะไรเป็นความดับแห่งวิญญาณ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำอยู่

ก็ภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งอะไร

ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป

เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำถึง ไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป
ความยินดีในรูปย่อมดับไป
เพราะความยินดีของภิกษุนั้นดับไป อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความดับแห่งรูป นี้เป็นความดับแห่งเวทนา นี้เป็นความดับแห่งสัญญา นี้เป็นความดับแห่งสังขาร นี้เป็นความดับแห่งวิญญาณ

พระสูตร
สมาธิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๒๗