พุทธวิธีละเวทนา I เคลัญญสูตรที่ ๑
พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
พุทธวิธีละเวทนา
เคลัญญสูตรที่ ๑
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๗๔-๓๘๑
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
เสียง : 8:52 นาที
ปฏิบัติ : 15 นาที
----------------
ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะ รอกาลเวลา นี้เป็นคำเราสั่งสอนพวกเธอ
ถ้าเมื่อภิกษุนั้นมีสติสัมปชัญญะ ไม่ประมาท มีความเพียรมีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ สุขเวทนา ย่อมบังเกิดขึ้น
เธอย่อมรู้อย่างนี้ว่า สุขเวทนานี้บังเกิดขึ้นแล้วแก่เราแล ก็แต่ว่าสุขเวทนานั้นอาศัยจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิดขึ้น
อาศัยอะไร
อาศัยกายนี้เอง
ก็กายนี้แลไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น
ก็สุขเวทนาอาศัยกายอันไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้นแล้วจึงเกิดขึ้น จักเที่ยงแต่ที่ไหน ดังนี้ เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและสุขเวทนาอยู่
เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและสุขเวทนาอยู่ ย่อมละราคานุสัยในกายและในสุขเวทนาเสียได้
ถ้าเมื่อภิกษุนั้นมีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ ทุกขเวทนา ย่อมบังเกิดขึ้น
เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนานี้ บังเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าทุกขเวทนานั้นอาศัยจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิดขึ้น
อาศัยอะไร
อาศัยกายนี้เอง
ก็กายนี้แลไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น
ก็ทุกขเวทนาอาศัยกายอันไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น แล้วจึงบังเกิดขึ้น จักเที่ยงแต่ที่ไหน ดังนี้ เธอย่อม
พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและในทุกขเวทนาอยู่
เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและในทุกขเวทนาอยู่ ย่อมละปฏิฆานุสัยในกายและในทุกขเวทนาเสียได้
ถ้าเมื่อภิกษุนั้นมีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ อทุกขมสุขเวทนา ย่อมบังเกิดขึ้น
เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า อทุกขมสุขเวทนานี้บังเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าอทุกขมสุขเวทนานั้น อาศัยจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิดขึ้น
อาศัยอะไร
อาศัยกายนี้เอง
ก็กายนี้แลไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น
ก็อทุกขมสุขเวทนาอาศัยกายอันไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น แล้วจึงบังเกิดขึ้น อทุกขมสุขเวทนาจักเที่ยงแต่
ที่ไหน ดังนี้
เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและในอทุกขมสุขเวทนาอยู่
เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและในอทุกขมสุขเวทนาอยู่ ย่อมละอวิชชานุสัยในกายและในอทุกขมสุขเวทนาเสียได้
ถ้าภิกษุนั้นเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน
ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน
ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน
ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยสุขเวทนานั้น
ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น
ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น
ภิกษุนั้นเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด
เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด
ย่อมรู้ชัดว่าเมื่อตายไป เวทนาทั้งปวงอันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นความเย็นในโลกนี้ทีเดียว
เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมันและไส้ จึงโพลงอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมันและไส้ ประทีปนั้นไม่มีเชื้อพึงดับไป
ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด
ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อตายไป เวทนาทั้งปวงอันไม่น่าเพลิดเพลินจักเป็นความเย็นในโลกนี้ทีเดียว