Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีสัมมาสมาธิเพื่อฤทธิ์ ปัญญา และวิมุติ I อังคิกสูตร

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
พุทธวิธีสัมมาสมาธิเพื่อฤทธิ์ ปัญญา และวิมุติ
อังคิกสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๘

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

เสียง : 19:44 นาที
ปฏิบัติ : 30 นาที

----------------

เราจักแสดงการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ เธอทั้งหลายจงฟัง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม มีวิตก มีวิจาร มีปีติเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุปฐมฌาน

เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง

นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐข้อที่ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขที่เกิดแต่สมาธิอยู่

เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่มซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง

นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๒

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข

เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่สุขอันปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง

นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๓

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌานอันไม่มีสุขไม่มีทุกข์ เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสและโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง

นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๔

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมถือด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ใคร่ครวญด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ซึ่งปัจจเวกขณนิมิตด้วยปัญญา

นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๕

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ภิกษุจะโน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใด ๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่โดยแน่นอน 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสัมมาสมาธิอันประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เธอโน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใด ๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่

ถ้าเธอมุ่งหวังอยู่ว่า เราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ พึงใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่

ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่

ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็พึงรู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็พึงรู้ว่าจิตปราศจากราคะ ฯลฯ หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็พึงรู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่

ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เราพึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่

ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติกำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม
ด้วยประการฉะนี้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่

ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่

พระสูตร
อังคิกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๘