Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีมรรคสมังคี I มหาจัตตารีสกสูตร

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
พุทธวิธีมรรคสมังคี
มหาจัตตารีสกสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๒๕๓-๒๗๙

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

เสียง : 24:35 นาที
ปฏิบัติ : 40 นาที

----------------

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบแก่เธอทั้งหลาย

พวกเธอจงฟังสัมมาสมาธินั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แลเรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง

ก็มิจฉาทิฐิเป็นไฉน คือ

ความเห็นดังนี้ว่า
ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล
ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล
สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผล
ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้ว ไม่มี
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี
มารดาไม่มี บิดาไม่มี
สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี
สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มีนี้มิจฉาทิฐิ

ก็สัมมาทิฐิเป็นไฉน

เรากล่าวสัมมาทิฐิเป็น ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑

สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค อย่าง ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน คือ

ความเห็นดังนี้ว่า
ทานที่ให้แล้ว มีผล
ยัญที่บูชาแล้ว มีผล
สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล
ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้ว มีอยู่
โลกนี้มี โลกหน้ามี
มารดามี บิดามี
สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี
สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลก มีอยู่

นี้สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ความเห็นชอบ องค์แห่งมรรคของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่

นี้แลสัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค

ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาทิฐิ เพื่อบรรลุสัมมาทิฐิ ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาทิฐิได้ มีสติบรรลุสัมมาทิฐิอยู่ สติของเธอนั้นเป็นสัมมาสติ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาทิฐิของภิกษุนั้น

บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน

ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

ภิกษุรู้จักมิจฉาสังกัปปะว่ามิจฉาสังกัปปะ รู้จักสัมมาสังกัปปะว่าสัมมาสังกัปปะ

ความรู้ของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฐิ

ก็มิจฉาสังกัปปะเป็นไฉน คือ

ความดำริในกาม
ดำริในพยาบาท
ดำริในความเบียดเบียน
นี้มิจฉาสังกัปปะ

ก็สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมาสังกัปปะเป็น ๒ อย่าง คือ

สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑

สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่าง ๑

ก็สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน คือ

ความดำริในเนกขัมมะ
ดำริในความไม่พยาบาท
ดำริในความไม่เบียดเบียน

นี้สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์

ก็สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความตรึก ความวิตก ความดำริ ความแน่ว ความแน่ ความปักใจ วจีสังขาร ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรคเจริญอริยมรรคอยู่

นี้แลสัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค

ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาสังกัปปะ เพื่อบรรลุสัมมาสังกัปปะ ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาสังกัปปะได้ มีสติบรรลุสัมมาสังกัปปะอยู่ สติของเธอนั้นเป็นสัมมาสติ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาสังกัปปะ ของภิกษุนั้น ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน

ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

ภิกษุรู้จักมิจฉาวาจาว่ามิจฉาวาจา รู้จักสัมมาวาจาว่าสัมมาวาจา ความรู้ของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฐิ

ก็มิจฉาวาจาเป็นไฉน คือ

พูดเท็จ พูดส่อเสียด
พูดคำหยาบ เจรจาเพ้อเจ้อ
นี้ มิจฉาวาจา

ก็สัมมาวาจาเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมาวาจาเป็น ๒ อย่าง คือ

สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑

สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่าง ๑

ก็สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ

เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ
งดเว้นจากการพูดส่อเสียด
งดเว้นจากการพูดคำหยาบ
งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ

นี้สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงด ความเว้น ความเว้นขาด เจตนางดเว้น จากวจีทุจริตทั้ง ๔ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่

นี้แลสัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค

ภิกษุย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาวาจา เพื่อบรรลุสัมมาวาจาอยู่ ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาวาจาได้ มีสติบรรลุสัมมาวาจาอยู่ สติของเธอนั้นเป็นสัมมาสติ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาวาจาของภิกษุนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน

ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

ภิกษุรู้จักมิจฉากัมมันตะว่า มิจฉากัมมันตะ รู้จักสัมมากัมมันตะว่า สัมมากัมมันตะ

ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ

ก็มิจฉากัมมันตะเป็นไฉน คือ

ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร

นี้ มิจฉากัมมันตะ

ก็สัมมากัมมันตะเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมากัมมันตะเป็น ๒ อย่าง คือ

สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑

สัมมากัมมันตะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่าง ๑

ก็สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะเป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน คือ

เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต
งดเว้นจากอทินนาทาน
งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร

นี้สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคเป็นไฉน

ความงดความเว้น เจตนางดเว้น จากกายทุจริตทั้ง ๓ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่

นี้แล สัมมากัมมันตะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค

ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉากัมมันตะ เพื่อบรรลุสัมมากัมมันตะ ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉากัมมันตะได้ มีสติบรรลุสัมมากัมมันตะอยู่ สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมากัมมันตะของภิกษุนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน

ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

ภิกษุรู้จักมิจฉาอาชีวะว่ามิจฉาอาชีวะ รู้จักสัมมาอาชีวะว่าสัมมาอาชีวะ

ความรู้ของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฐิ

ก็มิจฉาอาชีวะเป็นไฉน คือ

การโกง การล่อลวง การตลบตะแลง การยอมมอบตนในทางผิด การเอาลาภต่อลาภ นี้มิจฉาอาชีวะ

ก็สัมมาอาชีวะเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมาอาชีวะเป็น ๒ อย่าง คือ

สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑

สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคอย่าง ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมละมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ

นี้สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์

ก็สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงด ความเว้น เจตนางดเว้นจากมิจฉาอาชีวะ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่

นี้แล สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค

ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาอาชีวะ เพื่อบรรลุสัมมาอาชีวะ ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาอาชีวะได้ มีสติบรรลุสัมมาอาชีวะอยู่ สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาอาชีวะของภิกษุนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน

ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

เมื่อมีสัมมาทิฐิ
   สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ
   สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาวาจา
   สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมากัมมันตะ 
  สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาอาชีวะ
   สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาวายามะ
   สัมมาสติจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสติ
   สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสมาธิ
   สัมมาญาณะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาญาณะ
   สัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้

ด้วยประการนี้แล พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ จึงเป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยองค์ ๑๐

 

 

พระสูตร
มหาจัตตารีสกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๒๕๓-๒๗๙