Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีการดับอาสวะ I สัพพาสวสังวรสูตร

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
พุทธวิธีการดับอาสวะ
สัพพาสวสังวรสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๐-๑๙ หน้า ๑๑-๑๖

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

เสียง : 30:18 นาที
ปฏิบัติ : 60 นาที

----------------

ความสิ้นอาสวะจะมีได้แก่ภิกษุผู้รู้ ผู้เห็น มนสิการโดยแยบคาย อาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมสิ้นไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปริยายว่าด้วยการสังวรอาสวะทั้งปวงแก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจ
ให้ดี เราจักกล่าว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็นมีอยู่
ที่จะพึงละได้เพราะการสังวรก็มี
ที่จะพึงละได้เพราะเสพเฉพาะก็มี
ที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้นก็มี
ที่จะพึงละได้เพราะเว้นรอบก็มี
ที่จะพึงละได้เพราะบรรเทาก็มี
ที่จะพึงละได้เพราะอบรมก็มี

อาสวะที่ละได้ด้วยการเห็น

ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้เพราะการเห็น

อริยสาวกมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป เพราะไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ

อริยสาวกนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป

อาสวะที่ละได้ด้วยการสังวร

ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้เพราะการสังวร

ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วยในจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์ อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สำรวมอินทรีย์อยู่อย่างนี้

อาสวะที่พึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ

ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้เพราะการเห็น

ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และบริขาร อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้พิจารณาเสพอยู่อย่างนี้

อาสวะที่พึงละได้เพราะความอดกลั้น

ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้น

ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว กระหาย สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน อดกลั้นต่อถ้อยคำที่ผู้อื่นกล่าวชั่ว ร้ายแรง ต่อเวทนาอันเผ็ดร้อน แรงกล้า ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้วที่มีอยู่ในตัว อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้อดกลั้นอยู่อย่างนี้

อาสวะที่พึงละได้เพราะความเว้นรอบ

ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้เพราะความเว้นรอบ

ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เว้นจากที่มิใช่อาสนะ ที่อโคจร และมิตรลามก อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้เว้นรอบอยู่อย่างนี้

อาสวะที่พึงละได้เพราะความบรรเทา

ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้เพราะความบรรเทา

ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา ในกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก และบาปอกุศล ที่บังเกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้บรรเทาอยู่อย่างนี้

อาสวะที่พึงละได้เพราะอบรม

ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้เพราะการอบรม

ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญสติสัมโพชฌงค์  ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์  ปิติสัมโพชฌงค์  ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้อบรมอยู่อย่างนี้

ภิกษุผู้ละอาสวะได้แล้ว เพราะการเห็น เพราะการสังวร เพราะการพิจารณาเสพ เพราะความอดกลั้น เพราะความเว้นรอบ เพราะการบรรเทา เพราะการอบรม เป็นภิกษุผู้สำรวมด้วยความสังวรในอาสวะทั้งหลายอยู่ ตัดตัณหาได้แล้ว ละสังโยชน์ได้แล้ว ได้ทำที่สุดแห่งทุกข์เพราะความตรัสรู้ ด้วยการเห็นและการละมานะโดยชอบ

 

 

พระสูตร
สัพพาสวสังวรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๐-๑๙ หน้า ๑๑-๑๖