ปฏิปทาของบรรพชิต | นาลกดาบสสำเร็จอรหันต์
ปฏิปทาของบรรพชิต
นาลกสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๕ ข้อ ๓๘๙
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
วีดีโอ: 9:16 นาที
ปฏิบัติ: 20 นาที
----------
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่นาลกดาบส เรื่อง มุนีและปฏิปทาของมุนีที่บุคคลทำได้ยาก เมื่อทรงแสดงธรรมจบ นาลกดาบสขออุปสมบท บำเพ็ญปฏิปทาอย่างอุกฤษณ์ ไม่นานก็บรรลุอรหัตตผล
มุนีและปฏิปทาของมุนี
พึงกระทำการด่าและการไหว้ให้เสมอกัน
พึงรักษาความประทุษร้ายแห่งใจ
พึงเป็นผู้สงบ ไม่มีความเย่อหยิ่งเป็นอารมณ์
อารมณ์ที่สูงต่ำมีอุปมาด้วยเปลวไฟในป่า ย่อมมาสู่คลองจักษุ เป็นต้น
เหล่านารีย่อมประเล้าประโลมมุนี นารีเหล่านั้น อย่าพึงประเล้าประโลมท่าน
มุนีละกามทั้งหลายทั้งที่ดีแล้ว งดเว้นจากเมถุนธรรม
ไม่ยินดียินร้ายในสัตว์ทั้งหลายผู้สะดุ้ง และมั่นคง
พึงกระทำตนให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น สัตว์เหล่านี้ ฉันใด เราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า
มุนีละความปรารถนาและความโลภในปัจจัยที่ปุถุชนข้องอยู่ เป็นผู้มีจักษุ พึงปฏิบัติปฏิปทาของมุนีนี้พึงข้ามความทะเยอทะยานในปัจจัย ซึ่งเป็นเหตุแห่งมิจฉาชีพที่หมายรู้กันว่านรกนี้เสีย
พึงเป็นผู้มีท้องพร่อง มีอาหารพอประมาณ
มีความปรารถนาน้อย ไม่มีความโลภ ไม่มีความปรารถนาด้วยความปรารถนา ดับความเร่าร้อนได้แล้ว
มุนีนั้นรับบิณฑบาตแล้ว พึงไปยังชายป่า เข้าไปนั่งที่โคนต้นไม้ พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน ยินดีแล้วในป่า พึงทำจิตให้ยินดียิ่ง เพ่งฌานอยู่ที่โคนต้นไม้
ครั้นเมื่อล่วงราตรีไปแล้ว พึงเข้าไปสู่บ้าน
ไม่ยินดีโภชนะที่ยังไม่ได้ และโภชนะที่เขานำไปบ้าน ไปสู่บ้านแล้ว
ไม่พึงเที่ยวไปในสกุลโดยรีบร้อน
ไม่พึงกล่าววาจาเกี่ยวด้วยการแสวงหาของกิน
มุนีนั้นคิดว่า เราได้สิ่งใด สิ่งนี้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ เราไม่ได้ก็เป็นความดี เป็นผู้คงที่ เพราะการได้และไม่ได้ทั้งสองอย่างนั้น ย่อมก้าวล่วงทุกข์เสียได้
มุนีมีบาตรในมือเที่ยวไปอยู่ ไม่เป็นใบ้ ก็สมมุติว่าเป็นใบ้
ไม่พึงหมิ่นทานว่าน้อย ไม่พึงดูแคลนบุคคลผู้ให้
ก็ปฏิปทาสูงต่ำ พระพุทธสมณะประกาศแล้ว
มุนีทั้งหลายย่อมไม่ไปสู่นิพพานถึงสองครั้ง นิพพานนี้ควรถูกต้องครั้งเดียวเท่านั้น
ภิกษุผู้ปฏิบัติปฏิปทาของมุนี พึงเป็นผู้มีคมมีดโกนเป็นเครื่องเปรียบ กดเพดานไว้ด้วยลิ้นแล้ว พึงเป็นผู้สำรวมที่ท้อง มีจิตไม่ย่อหย่อน และไม่พึงคิดมาก เป็นผู้ไม่มีกลิ่นดิบ อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว มีพรหมจรรย์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า พึงศึกษาเพื่อการนั่งผู้เดียวและเพื่อประกอบภาวนาที่สมณะพึงอบรม
แม่น้ำห้วยย่อมไหลดังโดยรอบ แม่น้ำใหญ่ย่อมไหลนิ่ง สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นย่อมดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นสงบ คนพาลเปรียบด้วย หม้อน้ำที่มีน้ำครึ่งหนึ่ง บัณฑิตเปรียบเหมือนห้วงน้ำที่เต็ม
สมณะกล่าวถ้อยคำใดมากที่เข้าถึงประโยชน์ ประกอบด้วยประโยชน์ รู้ถ้อยคำนั้นอยู่ ย่อมแสดงธรรม
สมณะผู้นั้นรู้อยู่ ย่อมกล่าวถ้อยคำมาก สมณะใดรู้อยู่ สำรวมตน สมณะนั้นรู้เหตุที่ไม่นำประโยชน์เกื้อกูล และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าวมาก
สมณะผู้นั้นเป็นมุนี ย่อมควรซึ่งปฏิปทาของมุนี สมณะนั้นได้ถึงธรรมเครื่องเป็นมุนีแล้ว