สังเวคธรรม | มหาปชาบดีโคตมีเถริยาปทาน
สังเวคธรรม
(สัมมาทิฏฐิ - สัมมาวายามะ)
มหาปชาบดีโคตมีเถริยาปทาน
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่ม ๓๓ ข้อ ๑๕๗
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
วีดีโอ : 4:04 นาที
ปฏิบัติ : 15 นาที
-----
เมื่อพระมหาปชาบดีเถรีเจ้าปรินิพพาน ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ มีสายฟ้า กลองทิพย์บันลือลั่นขึ้นเอง ทวยเทพ นาค อสูรและพรหมต่างก็พากันสลดใจ กล่าวขึ้นว่า
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เหมือนอย่างพระมหาปชาบดีเถรีเจ้านี้ถึงความย่อยยับไปแล้ว และพระเถรีทั้งหลายซึ่งแวดล้อมพระมหาปชาบดีเถรีเจ้านี้ ก็พากันดับไปแล้ว เหมือนเปลวประทีปหมดเชื้อดับไป
ความประจวบกันมีความพลัดพรากเป็นที่สุด สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งล้วนแต่ไม่เที่ยง ชีวิตมีความหายสูญเป็นที่สุด ความปริเทวนาได้มีแล้ว
พระพุทธเจ้าและภิกษุทั้งหลาย มีพระสารีบุตร เป็นต้น ชนทั้งหลายช่วยกันทำจิตกาธารซึ่งสำเร็จด้วยของหอมล้วน แล้วเผาพระภิกษุณีเหล่านั้นบนจิตกาธานนั้น นอกจากอัฐิแล้ว ส่วนที่เหลือถูกไฟไหม้สิ้น
ท่านพระอานนท์ได้น้อมพระธาตุของพระโคตมีเถรีเจ้า ซึ่งอยู่ในบาตรของพระนาง เข้ามาถวายแด่พระพุทธเจ้า
พระผู้มีพระภาคทรงประคองพระธาตุนั้น แล้วตรัสว่า
เพราะสังขารเป็นสภาพไม่เที่ยง พระโคตมีผู้เป็นใหญ่กว่าหมู่พระภิกษุณีจึงต้องนิพพาน เช่นเดียวกับลำตัวของต้นไม้ใหญ่ถึงจะใหญ่โตก็ต้องพินาศ พระพุทธมารดาแม้นิพพานแล้ว สรีระก็ยังไม่เหลือ ไม่ควรเศร้าโศกถึงพระนางผู้ข้ามสาครคือสงสารไปแล้ว ละเว้นเหตุอันทำให้เดือดร้อนเสียได้ เป็นผู้เยือกเย็น ดับสนิทดีแล้ว พระนางเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก และมีปัญญากว้างขวาง ทั้งเป็นผู้รู้ราตรีนานกว่าภิกษุณีทั้งหลาย
พระโคตมีเถรีเจ้าเป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ ทิพโสตธาตุ และมีความชำนาญในเจโตปริยญาณ รู้ทั่วถึงปุพเพนิวาสญาณ ชำระทิพจักษุให้หมดจด อาสวะทั้งสิ้นของพระนางหมดสิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก พระนางมีญาณอันบริสุทธิ์ ในอรรถะ ธรรมะ นิรุติ และปฏิภาณ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรจะเศร้าโศกถึงพระนาง
คติของไฟที่ลุกโพลง ถูกแผ่นเหล็กทับแล้วดับไปโดยลำดับ ใคร ๆ ก็รู้ไม่ได้ ฉันใด บุคคลผู้ที่หลุดพ้นจากกิเลสด้วยดีแล้ว ข้ามพ้นโอฆะคือกามพันธุ์ บรรลุอจลบทแล้ว ก็ฉันนั้น ย่อมไม่มีคติที่ใคร ๆ จะรู้ได้
เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงมีตนเป็นที่พึ่ง มีสติปัฏฐานเป็นโคจรเถิด ท่านทั้งหลายอบรมโพชฌงค์ ๗ ประการแล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้