พุทธวิธีวิปัสสนาขันธ์ ๕ โดยความเป็นของว่างเปล่า | เผณปิณฑสูตร
พุทธวิธีวิปัสสนาขันธ์ ๕
โดยความเป็นของว่างเปล่า
เผณปิณฑสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๒๔๒-๒๔๗
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว ฟังพุทโธวาท
และน้อมธรรมมาสู่ใจ น้อมใจปฏิบัติ
ตามพุทโธวาทตรง ๆ ให้เข้าใจแจ้ง
และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดีโอ: 14:00 นาที
เวลาปฏิบัติ: 25 นาที
------
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุปมาขันธ์ทั้ง ๕ ว่า
รูปอุปมาด้วยกลุ่มฟองน้ำ
เวทนาอุปมาด้วยฟองน้ำ
สัญญาอุปมาด้วยพยับแดด
สังขารอุปมาด้วยต้นกล้วย
และวิญญาณอุปมาด้วยกล
เมื่อพิจารณากลุ่มฟองน้ำ ฟองน้ำ พยับแดด ต้นกล้วย และกลโดยแยบคาย ย่อมปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า หาสาระมิได้
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณนั้นโดยแยบคาย
เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้
สาระในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณพึงมีได้อย่างไร
สาวกผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี
ภิกษุย่อมเพ่งพิจารณาเห็นเบญจขันธ์นั้นโดยแยบคายด้วยประการใดๆ เบญจขันธ์นั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า ด้วยประการนั้น ๆ
ก็การละธรรม ๓ อย่าง พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
อายุ ไออุ่น และวิญญาณละกายนี้เมื่อใด เมื่อนั้น กายนั้นย่อมเป็นเหยื่อแห่งสัตว์อื่น หาเจตนามิได้ นอนทับถมแผ่นดิน สาระย่อมไม่มีในเบญจขันธ์นี้
ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน
ภิกษุเมื่อปรารถนาการไม่จุติ คือ นิพพาน พึงละสังโยชน์ทั้งปวง พึงกระทำที่พึ่งแก่ตน พึงประพฤติดุจบุคคลผู้มีศีรษะอันไฟไหม้ ดังนี้
เผณปิณฑสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๒๔๒-๒๔๗ หน้า ๑๓๔-๑๓๖