การละทิฏฐิ (1of 3)
พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
การละทิฏฐิ (ข้อที่ ๒๗๐-๒๗๑)
ทีฆนขสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๒๖๙-๒๗๕
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดีโอ: 7:19 นาที
เวลาปฏิบัติ: 25 นาที
---------------------------
ในวันเพ็ญเดือน ๓ พระพุทธภาคทรงแสดงธรรมแก่ทีฆนขปริพาชกให้ละทิฏฐิ กาย และเวทนาที่ถ้ำสุกรขาตา เมื่อทรงแสดงธรรมจบ พระสารีบุตรซึ่งถวายงานพัดอยู่ สำเร็จอรหันต์ ทีฆนขปริพาชกสำเร็จโสดาบันและแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนไตรเป็นสรณะ วันนั้นเป็นวันมาฆบูชา
หลังจากพระสารีบุตรอุปสมบทได้ ๑๕ วัน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ถ้ำสูกรขาตา เขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ทีฆนขปริพาชกได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลว่า ตนมีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า แม้ความเห็นที่ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรานั้น ก็ไม่ควรแก่ท่าน ผู้ที่ละความเห็นไม่ได้และยังยึดถือความเห็นอื่นนั้น มีมากกว่าคนที่ละได้ และผู้ที่ละความเห็นได้และไม่ยึดถือความเห็นอื่นนั้น มีน้อยกว่าคนที่ยังละไม่ได้
ทิฎฐิเป็นเหตุให้เกิดวิวาท
สมณพราหมณ์มีสามพวก คือ
๑. พวกที่เห็นว่าสิ่งทั้งปวงควรแก่เรา จะอยู่ใกล้ข้างกิเลสเป็นไปด้วยความกำหนัด เครื่องประกอบสัตว์ไว้ เป็นเหตุเพลิดเพลิน เป็นเหตุยึดมั่น
๒. พวกที่เห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา จะอยู่ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นไปด้วยความกำหนัด ไม่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ไม่เป็นเหตุยึดมั่น
๓. พวกที่เห็นว่าบางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรานั้น ส่วนที่เห็นว่าควร จะอยู่ใกล้ข้างกิเลสเป็นไปด้วยความกำหนัด เครื่องประกอบสัตว์ไว้ เป็นเหตุเพลิดเพลิน เป็นเหตุยึดมั่น ส่วนที่เห็นว่าไม่ควร จะอยู่ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นไปด้วยความกำหนัด ไม่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ไม่เป็นเหตุยึดมั่น
การละทิฏฐิ
ถ้าพวกใดพวกหนึ่งจะมีความยึดมั่น ถือมั่นซึ่งทิฏฐิว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เราเท่านั้น หรือสิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เราเท่านั้น หรือบางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เราเท่านั้น ก็จะมีความถือผิดจากอีกสองพวก เกิดความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน ความเบียดเบียนกัน เมื่อพิจารณาเห็นความถือผิดกัน ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกันและความเบียดเบียนกันของตน จึงละทิฏฐินั้นเสีย ไม่ยึดถือทิฎฐิอื่น เกิดการละและการสละคืนทิฎฐิเหล่านี้