การละเวทนา (3 of 3)
พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
การละเวทนา (ข้อที่ ๒๗๓)
ทีฆนขสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๒๖๙-๒๗๕
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดีโอ: 4:30 นาที
เวลาปฏิบัติ: 20 นาที
---------------------------
ในวันเพ็ญเดือน ๓ พระพุทธภาคทรงแสดงธรรมแก่ทีฆนขปริพาชกให้ละทิฏฐิ กาย และเวทนาที่ถ้ำสุกรขาตา เมื่อทรงแสดงธรรมจบ พระสารีบุตรซึ่งถวายงานพัดอยู่ สำเร็จอรหันต์ ทีฆนขปริพาชกสำเร็จโสดาบันและแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนไตรเป็นสรณะ วันนั้นเป็นวันมาฆบูชา
หลังจากพระสารีบุตรอุปสมบทได้ ๑๕ วัน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ถ้ำสูกรขาตา เขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ทีฆนขปริพาชกได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลว่า ตนมีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา พระองค์ตรัสตอบว่า แม้ความเห็นที่ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรานั้น ก็ไม่ควรแก่ท่าน ผู้ที่ละความเห็นไม่ได้และยังยึดถือความเห็นอื่นนั้น มีมากกว่าคนที่ละได้ และผู้ที่ละความเห็นได้และไม่ยึดถือความเห็นอื่นนั้น มีน้อยกว่าคนที่ยังละไม่ได้
การละเวทนา
เวทนา มีสามอย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา เมื่อเสวยเวทนาใดเวทนาหนึ่งก็จะไม่ได้เสวยเวทนาอีกสองอย่าง
ทั้งสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา ล้วนไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา
เมื่ออริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา ย่อมคลายกำหนัด หลุดพ้น มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมไม่วิวาทแก่งแย่งกับใคร โวหารใดที่ชาวโลกพูดกัน ก็พูดไปตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่นด้วยทิฎฐิ