พุทธวิธีเจริญสติสัมปชัญญะละเวทนา
พุทธวิธีละเวทนา
เคลัญญสูตรที่ ๑
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๘ ข้อ ๓๗๔-๓๘๑
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว ฟังพุทโธวาท
และน้อมธรรมมาสู่ใจ น้อมใจปฏิบัติ
ตามพุทโธวาทตรง ๆ ให้เข้าใจแจ้ง
และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดีโอ: 9:20 นาที
เวลาปฏิบัติ: 20 นาที
-----
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี เสด็จเข้าไปยังศาลาคนไข้ ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะ รอกาลเวลา นี้เป็นคำเราสั่งสอนพวกเธอ
ก็ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสติอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมเป็นผู้มีปรกติเห็นกายในกายอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ย่อมเป็นผู้มีปรกติเห็นเวทนาในเวทนาอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ย่อมเป็นผู้มีปรกติเห็นจิตในจิตอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ย่อมเป็นผู้มีปรกติเห็นธรรมในธรรมอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสติอย่างนี้แล
ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสัมปชัญญะ คือ ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัว
ในการก้าวไป ในการถอยกลับ
ในการแล ในการเหลียว
ในการคู้เข้า เหยียดออก
ในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร
ในการกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม
ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
ในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด นิ่ง
ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสัมปชัญญะอย่างนี้แล
เมื่อภิกษุมีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้
สุขเวทนาบังเกิดขึ้น ย่อมรู้ว่า สุขเวทนานี้บังเกิดขึ้นแล้ว
ทุกขเวทนาบังเกิดขึ้น ย่อมรู้ชัดว่า ทุกขเวทนานี้บังเกิดขึ้นแล้ว
อทุกขมสุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น ย่อมรู้ชัดว่าอทุกขมสุขเวทนานี้บังเกิดขึ้นแล้ว
เวทนานี้อาศัยกายจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยกายไม่เกิดขึ้น กายนี้ไม่เที่ยง เวทนาอาศัยกายไม่เที่ยง ย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและเวทนาอยู่
ย่อมละราคานุสัยในกายและในสุขเวทนาเสียได้
ย่อมละปฏิฆานุสัยในกายและในทุกขเวทนาเสียได้
ย่อมละอวิชชานุสัยในกายและในอทุกขมสุขเวทนาเสียได้
ถ้าภิกษุนั้นเสวยสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนานั้น
ภิกษุนั้นเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อตายไป เวทนาทั้งปวงอันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นความเย็นในโลกนี้ทีเดียว