Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีพิจารณาเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ

พุทธวิธีพิจารณา
เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ
(สัมมาทิฏฐิ - สัมมาวายามะ)
ปริวีมังสนสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่ม ๑๖ ข้อ ๑๘๘-๑๙๒

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

วีดีโอ: 25:44 นาที
ปฏิบัติ: 40 นาที

---------

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ณ ที่นั้น ทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ด้วยเหตุเท่าไรหนอแล ภิกษุเมื่อพิจารณา พึงพิจารณาเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า 

ทุกข์ คือ ชราและมรณะมีประการต่าง ๆ มากมายเกิดขึ้นในโลก 

ทุกข์นี้มีอะไรเป็นเหตุ 
มีอะไรเป็นสมุทัย 
มีอะไรเป็นกำเนิด 
มีอะไรเป็นแดนเกิด 

เมื่ออะไรมี ชราและมรณะจึงมี 
เมื่ออะไรไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี 

ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์ชราและมรณะ 
ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดชราและมรณะ 
ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งชราและมรณะ 
ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ 

และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร 

ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง เพื่อความดับแห่งชราและมรณะ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า 

ชาตินี้มีอะไรเป็นเหตุ 
มีอะไรเป็นสมุทัย 
มีอะไรเป็นกำเนิด 
มีอะไรเป็นแดนเกิด 

เมื่ออะไรมี ชาติจึงมี 
เมื่ออะไรไม่มี ชาติจึงไม่มี 

ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์ชาติ 
ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งชาติ 
ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งชาติ 
ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งชาติ

และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร 

ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง เพื่อความดับแห่งชาติ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า 

ภพนี้มีอะไรเป็นเหตุ 
มีอะไรเป็นสมุทัย 
มีอะไรเป็นกำเนิด 
มีอะไรเป็นแดนเกิด 

เมื่ออะไรมี ภพจึงมี 
เมื่ออะไรไม่มี ภพจึงไม่มี 

ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์ภพ 
ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งภพ 
ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งภพ
ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งภพ

และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร 

ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง เพื่อความดับแห่งภพ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า 

อุปาทานนี้มีอะไรเป็นเหตุ 
มีอะไรเป็นสมุทัย 
มีอะไรเป็นกำเนิด 
มีอะไรเป็นแดนเกิด 

เมื่ออะไรมี อุปาทานจึงมี 
เมื่ออะไรไม่มี อุปาทานจึงไม่มี 

ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์อุปาทาน 
ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งอุปาทาน 
ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งอุปาทาน
ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน

และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร 

ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง เพื่อความดับแห่งอุปาทาน...

...ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า 

วิญญาณนี้มีอะไรเป็นเหตุ 
มีอะไรเป็นสมุทัย 
มีอะไรเป็นกำเนิด 
มีอะไรเป็นแดนเกิด 

เมื่ออะไรมี วิญญาณจึงมี 
เมื่ออะไรไม่มี วิญญาณจึงไม่มี 

ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์วิญญาณ 
ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งวิญญาณ
ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งวิญญาณ
ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ

และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร 

ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง เพื่อความดับแห่งวิญญาณ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า 

สังขารนี้มีอะไรเป็นเหตุ 
มีอะไรเป็นสมุทัย 
มีอะไรเป็นกำเนิด 
มีอะไรเป็นแดนเกิด 

เมื่ออะไรมี สังขารจึงมี 
เมื่ออะไรไม่มี สังขารจึงไม่มี 

ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์สังขาร 
ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งสังขาร
ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งสังขาร
ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งสังขาร

และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร 

ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง เพื่อความดับแห่งสังขาร


บุคคลตกอยู่ในอวิชชา 
ถ้าสังขารที่เป็นบุญปรุงแต่ง 
...วิญญาณก็เข้าถึงบุญ 
ถ้าสังขารที่เป็นบาปปรุงแต่ง 
...วิญญาณก็เข้าถึงบาป 
ถ้าสังขารที่เป็นอเนญชาปรุงแต่ง 
...วิญญาณก็เข้าถึงอเนญชา

ในกาลใดแล ภิกษุละอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ในกาลนั้น ภิกษุนั้นก็ไม่ทำกรรมเป็นบุญ ไม่ทำกรรมเป็นบาป ไม่ทำกรรมเป็นอเนญชา เพราะสำรอกอวิชชาเสีย เพราะมีวิชชาเกิดขึ้น 

เมื่อไม่ทำ เมื่อไม่คิด ก็ไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก 
เมื่อไม่ถือมั่น ก็ไม่สะดุ้งกลัว 
เมื่อไม่สะดุ้งกลัว ก็ปรินิพพานเฉพาะตน 
ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

 

พระสูตร
ปริวีมังสนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อ ๑๘๘-๑๙๒