Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีละวิตกขณะเจริญอธิจิต

พุทธวิธีละวิตกขณะเจริญอธิจิต
(สัมมาวายามะ - สัมมาสมาธิ)
วิตักกสัณฐานสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๒ ข้อ ๒๕๖-๒๖๒

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 9:44 นาที
เวลาปฏิบัติ: 20 นาที

-----

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

พระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายถึงการหมั่นประกอบอธิจิต ควรมนสิการถึงนิมิต ๕ ประการ ตามเวลาอันสมควร

เมื่อภิกษุอาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใดอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เกิดขึ้น ภิกษุพึงละวิตกเหล่านั้นอันเป็นบาปอกุศล

๑. มนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศล เหมือนช่างไม้ใช้ลิ่มอันเล็ก ตอก โยก ถอน ลิ่มอันใหญ่ออก

เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายใน

๒. พิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้น เหมือนหญิงสาวหรือชายหนุ่มที่ชอบแต่งตัว รู้สึกอึดอัด ระอา เกลียดชังต่อซากงู ซากสุนัข หรือซากมนุษย์ ซึ่งผูกติดอยู่ที่คอของตน

เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายใน

๓. ถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้น เหมือนบุรุษผู้มีจักษุ ไม่ต้องการจะเห็นรูปที่ผ่านมา เขาพึงหลับตาเสีย หรือเหลียวไปทางอื่นเสีย

เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายใน

๔. มนสิการสัณฐานแห่งวิตก สังขารของวิตกเหล่านั้น เหมือนบุรุษพึงเดินเร็ว เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะเดินเร็วทำไม ถ้ากระไร เราพึงค่อย ๆ เดิน เขาก็พึงค่อย ๆ เดิน เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราค่อย ๆ เดินไปทำไมหนอ ถ้ากระไร เราควรยืน เขาพึงยืน เขาพึงมีความคิดอย่างนี้อีกว่า เราจะยืนทำไมหนอ ถ้ากระไร เราควรนั่ง เขาพึงนั่ง เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะนั่งทำไมหนอ ถ้ากระไร เราควรนอน เขาพึงลงนอน ก็บุรุษคนนั้น ผ่อนทิ้งอิริยาบถหยาบ ๆ เสีย พึงสำเร็จอิริยาบถละเอียด ๆ

เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายในนั้น

๕. กัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิตอยู่ เหมือนบุรุษผู้มีกำลังมากจับบุรุษผู้มีกำลังน้อยกว่าไว้ได้ แล้วบีบ กด เค้นที่ศีรษะ คอ หรือก้านคอไว้ให้แน่น

เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายในนั้น

ภิกษุเป็นผู้ชำนาญในทางเดินของวิตก เมื่อจะนึกถึงวิตกใด ก็ตรึกวิตกนั้นได้ จะไม่นึกถึงวิตกใด ก็ไม่ตรึกวิตกนั้นได้ ตัดตัณหาได้ คลี่คลายสังโยชน์ได้ ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ

พระสูตร
วิตักกสัณฐานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อ ๒๕๖-๒๖๒