อาการของอสังวร - สังวร | อุปมากายคตาสติ
พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
อาการของอสังวร - สังวร
ฉัปปาณสูตร พระไตรปิฎก
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อ ๓๔๖-๓๕๐
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด
ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดีโอ: 12:54 นาที
เวลาปฏิบัติ: 20 นาที
-----
พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
อสังวรย่อมมีอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว
ย่อมน้อมใจไปในรูปอันน่ารัก
ย่อมขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก
ฟังเสียงด้วยหูแล้ว
ย่อมน้อมใจไปในเสียงอันน่ารัก
ย่อมขัดเคืองในเสียงอันไม่น่ารัก
ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว
ย่อมน้อมใจไปในกลิ่นอันน่ารัก
ย่อมขัดเคืองในกลิ่นอันไม่น่ารัก
ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว
ย่อมน้อมใจไปในรสอันน่ารัก
ย่อมขัดเคืองในรสอันไม่น่ารัก
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว
ย่อมน้อมใจไปในโผฏฐัพพะอันน่ารัก
ย่อมขัดเคืองในโผฏฐัพพะอันไม่น่ารัก
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
ย่อมน้อมใจไปในธรรมารมณ์อันน่ารัก
ย่อมขัดเคืองในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก
ย่อมไม่เป็นผู้เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ มีใจมีประมาณน้อยอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือ แห่งอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น อันบังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง
เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์ ๖ ชนิด คือ งู จระเข้ นก สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ลิง ซึ่งมีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน แล้วผูกด้วยเชือกอันเหนียวแน่น ขมวดปมไว้ตรงกลางปล่อยไป ทีนั้นแล สัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้น พึงดึงมาหาโคจรและวิสัยของตน ๆ
งูพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่จอมปลวก
จระเข้พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักลงน้ำ
นกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักบินขึ้นสู่อากาศ
สุนัขบ้านพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าบ้าน
สุนัขจิ้งจอกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักไปสู่ป่าช้า
ลิงพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่ป่า
เมื่อสัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้น ต่างก็จะไปตามวิสัยของตน พึงลำบาก เมื่อนั้น สัตว์ใดมีกำลังมากกว่าสัตว์ สัตว์เหล่านั้นพึงอนุวัตรคล้อยตามไปสู่อำนาจแห่งสัตว์นั้น แม้ฉันใด
ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ได้อบรม ไม่กระทำให้มากซึ่งกายคตาสติ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
จักษุย่อมฉุดภิกษุนั้นไปในรูปอันเป็นที่พอใจ รูปอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมเป็นของปฏิกูล
หูย่อมฉุดภิกษุนั้นไปในเสียงอันเป็นที่พอใจ เสียงอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมเป็นของปฏิกูล
จมูกย่อมฉุดภิกษุนั้นไปในกลิ่นอันเป็นที่พอใจ กลิ่นอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมเป็นของปฏิกูล
ลิ้นย่อมฉุดภิกษุนั้นไปในรสอันเป็นที่พอใจ ลิ้นอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมเป็นของปฏิกูล
กายย่อมฉุดภิกษุนั้นไปในสัทมผัสอันเป็นที่พอใจ สัมผัสอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมเป็นของปฏิกูล
ใจย่อมฉุดไปในธรรมารมณ์อันเป็นที่พอใจ ธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมเป็นของปฏิกูล
อสังวรย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้แล
สังวรย่อมมีอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว
ย่อมไม่น้อมใจไปในรูปอันน่ารัก
ย่อมไม่ขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก
ฟังเสียงด้วยหูแล้ว
ย่อมไม่น้อมใจไปในเสียงอันน่ารัก
ย่อมไม่ขัดเคืองในเสียงอันไม่น่ารัก
ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว
ย่อมไม่น้อมใจไปในกลิ่นอันน่ารัก
ย่อมไม่ขัดเคืองในกลิ่นอันไม่น่ารัก
ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว
ย่อมน้อมใจไปในรสอันน่ารัก
ย่อมขัดเคืองในรสอันไม่น่ารัก
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว
ย่อมไม่น้อมใจไปในโผฏฐัพพะอันน่ารัก
ย่อมไม่ขัดเคืองในโผฏฐัพพะอันไม่น่ารัก
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
ย่อมไม่น้อมใจไปในธรรมารมณ์อันน่ารัก
ย่อมไม่ขัดเคืองในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก
เป็นผู้เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ มีใจหาประมาณมิได้อยู่ และย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น อันบังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง
เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์ ๖ ชนิด ซึ่งมีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน แล้วผูกด้วยเชือกอันเหนียวแน่น ครั้นแล้ว พึงผูกไว้ที่หลักหรือที่เสาอันมั่นคง ทีนั้นแล สัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้น พึงดึงมาหาโคจรและวิสัยของตน
เมื่อสัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้นต่างก็จะไปตามวิสัยของตน พึงลำบาก เมื่อนั้น สัตว์เหล่านั้นพึงยืนแนบ นั่งแนบ นอนแนบหลักหรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด
ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งอบรม กระทำให้มากซึ่งกายคตาสติ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
จักษุย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้นไปในรูปอันเป็นที่พอใจ รูปอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูล
หูย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้นไปในเสียงอันเป็นที่พอใจ เสียงอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูล
จมูกย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้นไปในกลิ่นอันเป็นที่พอใจ กลิ่นอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูล
ลิ้นย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้นไปในรสอันเป็นที่พอใจ ลิ้นอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูล
กายย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้นไปในสัมผัสอันเป็นที่พอใจ สัมผัสอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูล
ใจย่อมไม่ฉุดไปในธรรมารมณ์อันเป็นที่พอใจ ธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูล
สังวรย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้แล
คำว่า หลักหรือเสาอันมั่นคงนั้น เป็นชื่อของกายคตาสติ
เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า กายคตาสติ เราทั้งหลายจักอบรม กระทำให้มาก กระทำให้เป็นดังยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว
เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล