Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีละนิวรณ์ ๕

พุทธวิธีละนิวรณ์

(สัมมาวายามะ-สัมมาสมาธิ)

มหาอัสสปุรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง

เล่มที่ ๑๒ ข้อ ๔๖๙-๔๗๐

 

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ

ก่อนจะฟัง

พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง

เมื่อได้สมาธิดีแล้ว

ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ

น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ

ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง

เมื่อได้สภาวะดีใด

ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

 

ความยาววีดีโอ: 8:20 นาที

เวลาปฏิบัติ: 18 นาที

-----

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัสสปุรนิคม ของหมู่อังคราชกุมาร ในอังคชนบทณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

ประชุมชนย่อมรู้จักพวกเธอว่าสมณะ เมื่อพวกเธอนั้นมีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้แล้ว ก็ควรศึกษาอยู่ว่า เราทั้งหลายจักสมาทานประพฤติธรรม เป็นเครื่องทำความเป็นสมณะ เมื่อปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ชื่อและปฏิญญานี้ของพวกเรา ก็จักเป็นความจริงแท้ ใช่แต่เท่านั้น พวกเราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของทายกเหล่าใด ปัจจัยทั้งหลายนั้น ของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

อีกอย่างหนึ่ง บรรพชานี้ก็จักไม่เป็นหมัน จักมีผล มีความเจริญ

ก็กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปของภิกษุเมื่อประกอบด้วยสติสัมปชัญญะคืออะไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

เธอละความเพ่งเล็งในโลกแล้ว มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้

ละความประทุษร้ายคือพยาบาทแล้ว ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาทได้

ละถีนมิทธะได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความสำคัญ หมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้

ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้

ละวิจิกิจฉาได้แล้ว เป็นผู้เข้ามาวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้

อุปมานิวรณ์

เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงกู้หนี้ไปประกอบการงาน การงานเหล่านั้นของเขาจะพึงสำเร็จผล เขาจะพึงใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้น และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเขาจะพึงมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภรรยา

เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ

เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นผู้มีอาพาธ ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย สมัยต่อมา เขาพึงหายจากอาพาธนั้น บริโภคอาหารได้ และมีกำลังกาย

เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความไม่มีโรคนั้นเป็นเหตุ

เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดี ไม่มีภัย และไม่ต้องเสียทรัพย์อะไร ๆ เลย

เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีการพ้นจากเรือนจำนั้นเป็นเหตุ

เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ

เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความเป็นไทยแก่ตัวนั้นเป็นเหตุ

เปรียบเหมือนบุรุษมีทรัพย์ มีโภคสมบัติ จะพึงเดินทางไกลกันดาร สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้ โดยสวัสดี ไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไร ๆ เลย

เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุ ฉันใด

ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ ที่ยังละไม่ได้ในตนเหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร

และพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทยแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล

----------

พระสูตร
มหาอัสสปุรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อ ๔๖๙-๔๗๐