Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีน้อมจิตเพื่อจุตูปปาตญาณ (วิชชา ๓)

พุทธวิธีน้อมจิตเพื่อ
จุตูปปาตญาณ
(สัมมาสมาธิ-สัมมาญาณะ)
มหาอัสสปุรสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๒ ข้อ ๔๗๔, ๔๗๖

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 6:53 นาที

เวลาปฏิบัติ: 20 นาที

-----

พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

ภิกษุบรรลุจตตุถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสในก่อนได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่จิตอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง

เปรียบเหมือนบุรุษนั่งคลุมตัวตลอดศีรษะด้วยผ้าขาว ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายทุก ๆ ส่วนของเขาที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้อง ฉะนั้น

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มจิตไปเพื่อเพื่อรู้จุติและอุปบัติของของสัตว์ทั้งหลาย

เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติกำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยากด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์

ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า

สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

เปรียบเหมือนเรือนสองหลังมีประตูอยู่ตรงกัน บุรุษผู้มีจักษุ ยืนอยู่ตรงกลางบนเรือนนั้น พึงเห็นหมู่มนุษย์ กำลังเข้าสู่เรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังเดินไปบ้าง กำลังเดินมาบ้าง กำลังเที่ยวไปบ้าง ฉันใด

ภิกษุย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฉันนั้นเหมือนกันแล

 

พระสูตร
มหาอัสสปุรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อ ๔๗๔, ๔๗๖