Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะเล่น

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
ไม่กล่าวมุสา 
แม้เพราะหัวเราะเล่น
(สัมมากัมมันตะ)
จูฬราหุโลวาทสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๓ ข้อ ๑๒๕-๑๒๗

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 5:40 นาที
เวลาปฏิบัติ: 12 นาที

____________

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ท่านพระราหุลอยู่ ณ ปราสาทอัมพลัฏฐิกา

ครั้งเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอัมพลัฏฐิกาปราสาท ท่านพระราหุลได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล จึงปูลาดอาสนะและตั้งน้ำสำหรับล้างพระบาทไว้

พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ แล้วทรงล้างพระบาท ทรงเหลือน้ำไว้ในภาชนะน้ำหน่อยหนึ่ง แล้วตรัสกะ
ท่านพระราหุลว่า 

สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็มีน้อยหนึ่ง เหมือนกันฉะนั้น

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเทน้ำที่เหลือหน่อยหนึ่งนั้นเสีย แล้วตรัสว่า 

สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของที่เขาทิ้งเสียแล้ว เหมือนกันฉะนั้น

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงคว่ำภาชนะน้ำนั้น แล้วตรัสว่า 

สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของที่เขาคว่ำเสียแล้ว เหมือนกันฉะนั้น

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหงายภาชนะน้ำนั้นขึ้น แล้วตรัสว่า

สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของว่างเปล่า เหมือนกันฉะนั้น

เปรียบเหมือนช้างต้นมีงาอันงอนงาม เป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม ช้างนั้นเข้าสงครามแล้ว ทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ย่อมรักษาไว้แต่งวงเท่านั้น

เพราะการที่ช้างรักษางวงนั้น ควาญช้างจึงมีความดำริว่า ชีวิตชื่อว่าช้างต้นยังไม่ยอมสละ

เมื่อใดช้างต้นเข้าสงครามแล้ว ทำกรรมด้วยงวง เพราะการที่ช้างต้นทำกรรมด้วยงวง ควาญช้างจึงมีความดำริว่า ชีวิตชื่อว่าช้างต้นยอมสละแล้ว บัดนี้ไม่มีอะไรที่ช้างต้นจะพึงทำไม่ได้ ฉันใด เรากล่าวว่าบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่ง ไม่มี ฉันนั้นเหมือนกัน

เพราะเหตุนั้นแหละ ราหุล เธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล

พระสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อ ๑๒๕-๑๒๗