ธรรมปริยายชำแรกกิเลส - กาม
ธรรมปริยายชำแรกกิเลส - กาม
นิพเพธิกสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๒ ข้อ ๓๓๔
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดีโอ: 8:41 นาที
เวลาปฏิบัติ: 15 นาที
____________
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมปริยายที่เป็นปริยายเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลสนั้นเป็นไฉน
เธอทั้งหลายพึงทราบกาม
เหตุเกิดแห่งกาม
ความต่างแห่งกาม
วิบากแห่งกาม
ความดับแห่งกาม
ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกาม
เธอทั้งหลายพึงทราบเวทนา
เหตุเกิดแห่งเวทนา
ความต่างแห่งเวทนา
วิบากแห่งเวทนา
ความดับแห่งเวทนา
ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับเวทนา
เธอทั้งหลายพึงทราบสัญญา
เหตุเกิดแห่งสัญญา
ความต่างแห่งสัญญา
วิบากแห่งสัญญา
ความดับแห่งสัญญา
ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับสัญญา
เธอทั้งหลายพึงทราบอาสวะ
เหตุเกิดแห่งอาสวะ
ความต่างแห่งอาสวะ
วิบากแห่งอาสวะ
ความดับแห่งอาสวะ
ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับอาสวะ
เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม
เหตุเกิดแห่งกรรม
ความต่างแห่งกรรม
วิบากแห่งกรรม
ความดับแห่งกรรม
ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรม
เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์
เหตุแห่งทุกข์
ความต่างแห่งทุกข์
วิบากแห่งทุกข์
ความดับแห่งทุกข์
ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับทุกข์
ข้อที่เรากล่าวนี้ว่า เธอทั้งหลายพึงทราบกาม เหตุเกิดแห่งกาม ความต่างแห่งกาม วิบากแห่งกาม ความดับแห่งกาม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกามนั้น เราอาศัยอะไรกล่าว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้ คือ
รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ...
เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหู...
กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยจมูก...
รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น...
โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย
อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด
ก็แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ชื่อว่ากาม
สิ่งเหล่านี้เรียกว่ากามคุณในวินัยของพระอริยะเจ้า
ความกำหนัดที่เกิดด้วยสามารถแห่งความดำริของบุรุษ ชื่อว่ากาม
อารมณ์อันวิจิตรทั้งหลายในโลก ไม่ชื่อว่ากาม อารมณ์อันวิจิตรเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ตามสภาพของตน ธีรชนทั้งหลายย่อมกำจัดความพอใจในอารมณ์อันวิจิตรเหล่านั้น
เหตุเกิดแห่งกามเป็นไฉน คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกามทั้งหลาย
ก็ความต่างกันแห่งกามเป็นไฉน คือ
กามในรูปเป็นอย่างหนึ่ง
กามในเสียงเป็นอย่างหนึ่ง
กามในกลิ่นเป็นอย่างหนึ่ง
กามในรสเป็นอย่างหนึ่ง
กามในโผฏฐัพพะเป็นอย่างหนึ่ง
นี้เรียกว่าความต่างกันแห่งกาม
วิบากแห่งกามเป็นไฉน คือ การที่บุคคลผู้ใคร่อยู่ ย่อมยังอัตภาพที่เกิดขึ้นจากความใคร่นั้น ๆ ให้เกิดขึ้น เป็นส่วนบุญหรือเป็นส่วนมิใช่บุญ นี้เรียกว่าวิบากแห่งกาม
ความดับแห่งกามเป็นไฉน คือ ความดับแห่งกามเพราะผัสสะดับ
อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกาม
ก็เมื่อใด อริยสาวกย่อมทราบชัดกาม เหตุเกิดแห่งกาม ความต่างแห่งกาม วิบากแห่งกาม ความดับแห่งกาม ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกาม เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส เป็นที่ดับแห่งกาม