Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีเจริญอานาปานสติสมาธิ

พุทธวิธีเจริญอานาปานสติสมาธิ
อานาปานสติสมาธิกถา
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑ ข้อ ๑๗๖-๑๗๘

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 8:26 นาที
เวลาปฏิบัติ: 15 นาที

____________

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระนครเวสาลี ทรงแสดงอสุภกถา ทรงพรรณนาคุณแห่งอสุภกัมมัฏฐาน ทรงสรรเสริญคุณแห่งการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน ทรงพรรณนาคุณแห่งอสุภสมาบัติเนือง ๆ โดยอเนกปริยายแก่ภิกษุทั้งหลาย 

ภิกษุเหล่านั้นจึงพากันประกอบความเพียรในการเจริญอสุภกัมมัฏฐานหลายอย่างหลายกระบวนอยู่ ภิกษุเหล่านั้น อึดอัด ระอา เกลียดชังร่างกายของตน ดุจสตรีหรือบุรุษรุ่นหนุ่มรุ่นสาว พอใจในการตกแต่งกาย มีซากศพงู ซากศพสุนัข หรือซากศพมนุษย์มาคล้องอยู่ที่คอ จะพึงอึดอัด สะอิดสะเอียน เกลียดชัง ฉะนั้น จึงปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง บางเหล่าก็ขอผู้อื่นให้ช่วยปลงชีวิตตนบ้าง

พระอานนท์จึงทูลขอพระผู้มีพระภาคตรัสบอกปริยายอื่นที่ภิกษุสงฆ์จะพึงดำรงอยู่ในพระอรหัตตผล

พระผู้มีพระภาคจึงรับส่งให้พระอานนท์เผดียงภิกษุที่อาศัยพระนครเวสาลีอยู่ทั้งหมดให้ประชุมกันที่อุปัฏฐานศาลา 

เมื่อภิกษุทั้งหลายมาประชุมพร้อมกันแล้ว พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าสู่อุปัฏฐานศาลาประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่จัดไว้ถวาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิในอานาปานสตินี้อันภิกษุอบรมทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน ดุจละอองและฝุ่นที่ฟุ้ง ขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ย่อมยังละอองและฝุ่นนั้น ๆ ให้อันตรธานสงบไปได้ โดยฉับพลัน ฉะนั้น

ก็อานาปานสติสมาธิอันภิกษุอบรมอย่างไร ทำให้มากอย่างไร จึงเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ตาม อยู่ ณ โคนไม้ก็ตาม อยู่ในสถานที่สงัดก็ตาม นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติบ่ายหน้าสู่กรรมฐาน ภิกษุนั้นย่อมมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก 

เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกว่าหายใจเข้ายาว 
หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้สึกว่าหายใจออกยาว 
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกว่าหายใจเข้าสั้น 
หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกว่าหายใจออกสั้น 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวง หายใจเข้า 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวง หายใจออก 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก 

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งปีติ หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งปีติ หายใจออก 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งสุขหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งสุขหายใจออก 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตสังขารหายใจเข้า 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตสังขารหายใจออก 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับจิตสังขารหายใจเข้า 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับจิตสังขารหายใจออก 

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตหายใจเข้า 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตหายใจออก 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้า 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักยังจิตให้บันเทิงหายใจออก 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตไว้มั่นหายใจเข้า 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตไว้มั่นหายใจออก 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักปล่อยจิตหายใจเข้า 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักปล่อยจิตหายใจออก 

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นธรรมอันไม่เที่ยง หายใจเข้า 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นธรรมอันไม่เที่ยง หายใจออก 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นวิราคะ หายใจเข้า 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นวิราคะ หายใจออก 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นนิโรธ หายใจเข้า 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นนิโรธ หายใจออก 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นปฏินิสสัคคะ (สลัดคืน) หายใจเข้า 
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นปฏินิสสัคคะ หายใจออก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมแล้วอย่างนี้แล ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานสงบไปได้โดยฉับพลัน

 

 

พระสูตร
อานาปานสติสมาธิกถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ ข้อ ๑๗๖-๑๗๘