Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

อุปมาภัยของชีวิต

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
อุปมาภัยของชีวิต
อาสีวิสสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่ม ๑๘ ข้อ ๓๐๙-๓๑๖

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

วีดีโอ: 11:03 นาที
ปฏิบัติ: 15 นาที

--------------

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า มีอสรพิษ ๔ จำพวก ซึ่งมีฤทธิ์เดชแรงกล้า ถ้ามีบุรุษรักชีวิต ผู้ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า

อสรพิษ ๔ จำพวกนี้ มีฤทธิ์เดชแรงกล้า ท่านพึงปลุกให้ลุกตามเวลา ให้อาบน้ำตามเวลา ให้กินอาหารตามเวลา ให้เข้าสู่ที่อยู่ตามเวลา เวลาใดอสรพิษทั้ง ๔ จำพวกนี้ ตัวใดตัวหนึ่งโกรธขึ้น เวลานั้น ท่านก็จะพึงถึงความตาย หรือถึงทุกข์แทบปางตาย กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย

บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ จำพวกนั้น จึงหนีไปในที่อื่น ชนทั้งหลายกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า มีเพชฌฆาตผู้เป็นข้าศึกอยู่ ๕ คน ได้ติดตามมาข้างหลังท่าน พบท่านในที่ใด ก็จะฆ่าท่านเสียในที่นั้น กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย

บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ จำพวก และกลัวเพชฌฆาตผู้เป็นข้าศึกทั้ง ๕ คนนั้น จึงหนีไปในที่อื่น

ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า

มีเพชฌฆาตคนที่ ๖ ซึ่งเที่ยวไปในอากาศ เงื้อดาบติดตามมาข้างหลังท่าน พบท่านในที่ใด ก็จะตัดศีรษะของท่านเสียในที่นั้น กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย

บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ จำพวกซึ่งมีฤทธิ์เดชแรงกล้า กลัวเพชฌฆาตผู้เป็นข้าศึกทั้ง ๕ และกลัวเพชฌฆาตคนที่ ๖ ซึ่งเที่ยวไปในอากาศ เงื้อดาบอยู่ จึงหนีไปในที่อื่น เขาพบบ้านร้างเข้า จึงเข้าไปสู่เรือนร้างว่างเปล่าหลังหนึ่ง ลูบคลำภาชนะว่างเปล่าชนิดหนึ่ง

ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า มีโจรทั้งหลายคอยฆ่าชาวบ้าน เข้ามาสู่บ้านร้างนี้เสมอ กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย

บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ กลัวเพชฌฆาตทั้ง ๕ กลัวเพชฌฆาตคนที่ ๖ และกลัวโจรผู้คอยฆ่าชาวบ้าน จึงหนีไปในที่อื่น

เขาไปพบห้วงน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ฝั่งข้างนี้น่ารังเกียจ เต็มไปด้วยภัยอันตราย ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษมปลอดภัย เรือแพหรือสะพานที่จะข้ามไปฝั่งโน้นไม่มี

บุรุษนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ห้วงน้ำนี้ใหญ่นัก ฝั่งข้างนี้เป็นที่น่ารังเกียจ เต็มไปด้วยภัยอันตราย ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษมปลอดภัย เรือ แพ หรือสะพานที่จะข้ามไปฝั่งโน้นก็ไม่มี ผิฉะนั้น เราควรจะมัดหญ้ากิ่งไม้และใบไม้ ผูกเป็นแพ เกาะแพนั้น พยายามไปด้วยมือและด้วยเท้า ก็พึงถึงฝั่งโน้นได้โดยความสวัสดี

ครั้นแล้ว บุรุษนั้นทำตามความคิดของตน ก็ว่ายข้ามฟากถึงฝั่งข้างโน้นแล้ว เป็นพราหมณ์ขึ้นบกไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้ออุปมานี้ เราสมมติขึ้นเพื่อจะให้รู้เนื้อความโดยง่าย ในข้อนั้นมีเนื้อความดังนี้

คำว่า อสรพิษที่มีฤทธิ์แรงกล้าทั้ง ๔ จำพวกนั้น เป็นชื่อแห่งมหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

คำว่า เพชฌฆาตทั้ง ๕ คนที่เป็นข้าศึกนั้น เป็นชื่อแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

คำว่า เพชฌฆาตคนที่ ๖ ซึ่งเที่ยวไปในอากาศเงื้อดาบอยู่นั้น เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ

คำว่า บ้านร้างนั้นเป็นชื่อแห่งอายตนะภายใน ๖ ถ้าแม้บัณฑิตผู้ฉลาด มีปัญญาใคร่ครวญอายตนะภายใน ๖ นั้น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จะปรากฏว่าเป็นของว่าง เปล่า สูญทั้งนั้น
             
คำว่า โจรผู้ฆ่าชาวบ้านนั้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก ๖

ตาย่อมเดือดร้อน
เพราะรูปเป็นที่พอใจและไม่พอใจ
หูย่อมเดือดร้อน
เพราะเสียงเป็นที่พอใจและไม่พอใจ
จมูกย่อมเดือดร้อน
เพราะกลิ่นเป็นที่พอใจและไม่พอใจ
ลิ้นย่อมเดือดร้อน
เพราะรสเป็นที่พอใจและไม่พอใจ
กายย่อมเดือดร้อน
เพราะโผฏฐัพพะเป็นที่พอใจและไม่พอใจ
ใจย่อมเดือดร้อน
เพราะธรรมารมณ์เป็นที่พอใจและไม่พอใจ

คำว่า ห้วงน้ำใหญ่นั้น เป็นชื่อแห่งโอฆะทั้ง ๔ คือ กาโมฆะ ภโวฆะทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ

คำว่า ฝั่งข้างนี้อันเป็นที่น่ารังเกียจ เต็มไปด้วยภัยอันตรายนั้น เป็นชื่อแห่ง ร่างกายของตน

คำว่า ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษม ปลอดภัยนั้นเป็นชื่อแห่ง นิพพาน

 คำว่า แพนั้น เป็นชื่อแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

คำว่า พยายามข้ามไปด้วยมือและเท้า เป็นชื่อแห่ง วิริยารัมภะ

คำว่า ผู้เป็นพราหมณ์ว่ายข้ามฟากถึงฝั่งโน้นแล้วขึ้นบกไป เป็นชื่อแห่ง พระอรหันต์

 

 

พระสูตร
อาสีวิสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๑๘ ข้อ ๓๐๙-๓๑๖