Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ปฐมเทศนา | ท่านอัญญาโกณฑัญญะบรรลุโสดาบัน

ทรงแสดงปฐมเทศนา
ท่านอัญญาโกณฑัญญะบรรลุโสดาบัน
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๓-๑๗

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

วีดีโอ : 12:34
ปฏิบัติ : 25 นาที

---------------------

ปฐมเทศนา

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตนครพาราณสี เสด็จเข้าไปยังสำนักปัญจวัคคีย์ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า

ทางสายกลาง

ที่สุด ๒ อย่าง ที่บรรพชิตไม่ควรเสพ คือ การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย ๑ และการประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน ๑

ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง  เพื่อความตรัสรู้  เพื่อนิพพาน   ได้แก่อริยมรรค  มีองค์ ๘  คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งจิตชอบ

อริยสัจ ๔

ทุกขอริยสัจ คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน  มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ  คือ กามตัณหา  ภวตัณหา  วิภวตัณหา

ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือด้วยมรรค คือ วิราคะ  สละ  สละคืน  ปล่อยไป  ไม่พัวพัน

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งจิตชอบ

อริยสัจ ๔  มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ คือ

นี้ทุกขอริยสัจ
ควรกำหนดรู้
ได้กำหนดรู้แล้ว

นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ
ควรละเสีย
ได้ละแล้ว

นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ
ควรทำให้แจ้ง
ทำให้แจ้งแล้ว

นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ควรให้เจริญ
ทำให้เจริญแล้ว

ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีแล้วเพียงใด เรายังยืนยันไม่ได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น

ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว เราจึงยืนยันได้ว่าเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์

อนึ่ง ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีต่อไป

ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา

ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เหล่าภุมมเทวดาได้บันลือเสียงว่า นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ  ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้

เทวดาชั้นจาตุมหาราช ได้ยินเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป
เทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป
เทวดาชั้นยามา ...
เทวดาชั้นดุสิต ...
เทวดาชั้นนิมมานรดี...
เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดี ...

เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดีแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไปว่า นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้

ชั่วขณะการครู่หนึ่งนั้น เสียงกระฉ่อนขึ้นไปจนถึงพรหมโลก ด้วยประการฉะนี้แล

ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้ได้ปรากฏแล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานว่า ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ

เพราะเหตุนั้น คำว่า อัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้

พระสูตร
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๓-๑๗