พุทธวิธีวางจิตในทุกสิ่ง | ติกัณฑกีสูตร
พุทธวิธีวางจิตในทุกสิ่ง
ติกัณฑกีสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๔๔
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว ฟังพุทโธวาท
และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
วีดีโอ: 7:42 นาที
เวลาปฏิบัติ: 15 นาที
------------
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าติกัณฑกีวัน ใกล้เมืองสาเกต ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ขอภิกษุพึงเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งอันไม่เป็นปฏิกูล ว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่ตลอดกาล
ขอภิกษุพึงเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งอันเป็นปฏิกูลว่า ไม่เป็นปฏิกูลอยู่ตลอดกาล
ขอภิกษุพึงเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งไม่ปฏิกูล และสิ่งอันเป็นปฏิกูล ว่าเป็นปฏิกูลอยู่ตลอดกาล
ขอภิกษุพึงเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งอันเป็นปฏิกูล และสิ่งอันไม่เป็นปฏิกูล ว่าเป็นสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ตลอดกาล
ขอภิกษุพึงเว้นสิ่งทั้งสอง คือ สิ่งไม่ปฏิกูล และสิ่งปฏิกูลแล้ว เป็นผู้มีความวางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดกาล
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร ภิกษุจึงควรเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งไม่ปฏิกูล ว่าเป็นสิ่งปฏิกูล
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้ว่า ความกำหนัดในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอย่าเกิดขึ้นแก่เรา
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรภิกษุจึงควรเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งปฏิกูลว่าเป็นสิ่งไม่ปฏิกูล
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้ว่า ความขัดเคืองในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคืองอย่าเกิดขึ้นแก่เรา
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร ภิกษุจึงควรเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งไม่ปฏิกูล และสิ่งปฏิกูล ว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้ว่า ความกำหนัดในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด อย่าเกิดขึ้นแก่เรา ความขัดเคืองในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง อย่าเกิดขึ้นแก่เรา
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร ภิกษุจึงควรเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งปฏิกูล และสิ่งไม่ปฏิกูล ว่าเป็นสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้ว่า ความขัดเคืองในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคืองอย่าเกิดขึ้นแก่เรา ความกำหนัดในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอย่าเกิดขึ้นแก่เรา
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร ภิกษุจึงควรเว้นสิ่งทั้งสอง คือ สิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลแล้ว เป็นผู้มีความวางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้ว่า ความกำหนัดในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ความขัดเคืองในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ความหลงในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ในอารมณ์ไหนๆ ในส่วนไหนๆ แม้มีประมาณน้อย อย่าเกิดขึ้นแก่เรา