Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ความเป็นอนัตตาของธรรมหมวด ๖ | ฉฉักกสูตร

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
ความเป็นอนัตตาของธรรมหมวด ๖
ฉฉักกสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๘๑๗-๘๒๔

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว ฟังพุทโธวาท
และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

วีดีโอ: 17:07 นาที
เวลาปฏิบัติ: 25 นาที

------------

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ตรัสดังนี้ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมแก่เธอทั้งหลาย อันไพเราะในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คือ ธรรมหมวดหก ๖ หมวด

พวกเธอจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป

พวกเธอพึงทราบอายตนะภายใน ๖
อายตนะภายนอก ๖
หมวดวิญญาณ ๖
หมวดผัสสะ ๖
หมวดเวทนา ๖
หมวดตัณหา ๖

บุคคลอาศัยอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ เกิดวิญญาณ ๖

ความประจวบของธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
            
ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า จักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส เวทนา ตัณหา เป็นอัตตา

คำของผู้นั้นไม่ควร

จักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส เวทนา ตัณหา ย่อมปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม

ก็สิ่งใดแล ปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม สิ่งนั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป

เพราะฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่าจักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส เวทนา ตัณหาเป็นอัตตานั้นจึงไม่ควร

ด้วยประการฉะนี้ จักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส เวทนา ตัณหาจึงเป็นอนัตตา
            
ผู้ใดกล่าวว่า โสตะเป็นอัตตา...

ผู้ใดกล่าวว่า ฆานะเป็นอัตตา...

ผู้ใดกล่าวว่า ชิวหาเป็นอัตตา...

ผู้ใดกล่าวว่า กายเป็นอัตตา...

ผู้ใดกล่าวว่า มโน ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส เวทนา ตัณหา เป็นอัตตา

คำของผู้นั้นไม่ควร

มโน ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส เวทนา ตัณหา ย่อมปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม

ก็สิ่งใดแล ปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม สิ่งนั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป

เพราะฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่า มโน ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส เวทนา ตัณหา เป็นอัตตานั้น จึงไม่ควร

ด้วยประการฉะนี้ มโน ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส เวทนา ตัณหา จึงเป็นอนัตตา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาอันให้ถึงความตั้งขึ้นแห่งสักกายะดังต่อไปนี้แล

บุคคลเล็งเห็นจักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส เวทนา ตัณหา ว่านั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา

เล็งเห็น โสต เสียง โสตวิญญาณ โสตสัมผัส เวทนา ตัณหา ว่านั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา

เล็งเห็นฆานะ กลิ่น ฆานวิญญาณ ฆานสัมผัส เวทนา ตัณหา ว่านั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา

เล็งเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ชิวหาสัมผัส เวทนา ตัณหา ว่านั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา

เล็งเห็นกาย กายวิญญาณ กายสัมผัส เวทนา ตัณหา ว่านั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา

เล็งเห็น มโน ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส เวทนา ตัณหา ว่านั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาอันให้ถึงความดับสักกายะ ดังต่อไปนี้แล

บุคคลเล็งเห็นจักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส เวทนา ตัณหา ว่านั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา

เล็งเห็น โสต เสียง โสตวิญญาณ โสตสัมผัส เวทนา ตัณหา ว่านั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา

เล็งเห็นฆานะ กลิ่น ฆานวิญญาณ ฆานสัมผัส เวทนา ตัณหา ว่านั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา

เล็งเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ชิวหาสัมผัส เวทนา ตัณหา ว่านั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา

เล็งเห็นกาย กายวิญญาณ กายสัมผัส เวทนา ตัณหา ว่านั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา

เล็งเห็น มโน ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส เวทนา ตัณหา ว่านั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา

บุคคลอาศัยอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ เกิดวิญญาณ ๖

ความประจวบของธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ย่อมเกิดความเสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง

เขาอันสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเพลิดเพลิน ชมเชย ยึดติด จึงมีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่

เขาอันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไห้ ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความหลง จึงมีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่  

เขาอันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่ทราบชัดความตั้งขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้นตามความเป็นจริง จึงมีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ ยังไม่ทำวิชชาให้เกิด เพราะไม่ละอวิชชาเสีย แล้วจักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้
           
บุคคลอาศัยอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ เกิดวิญญาณ ๖

ความประจวบของธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ย่อมเกิดความเสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง

เขาอันสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่ชมเชย ไม่ยึดติด จึงไม่มีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่

เขาอันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไห้ ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลง จึงไม่มีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่

เขาอันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมทราบชัดความตั้งขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้นตามความเป็นจริง จึงไม่มีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ ทำวิชชาให้เกิด เพราะละอวิชชาเสีย แล้วจักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ นั่นเป็นฐานะที่มีได้     
           
อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ผัสสะ เวทนา ตัณหา

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว และทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี
           
เมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่ ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ได้มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น

พระสูตร
ฉฉักกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๘๑๗-๘๒๔