Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ปฏิปทาเพื่อยังประโยชน์ให้สำเร็จสำหรับบรรพชิตและคฤหัสถ์

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
ปฏิปทาเพื่อยังประโยชน์ให้สำเร็จ
สำหรับบรรพชิตและคฤหัสถ์    
ธรรมิกสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๕ ข้อ ๓๓๓

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว ฟังพุทโธวาท
และน้อมธรรมมาสู่ใจ น้อมใจปฏิบัติ
ตามพุทโธวาทตรง ๆ ให้เข้าใจแจ้ง
และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 9:36 นาที
เวลาปฏิบัติ: 15 นาที

--------

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

ครั้งนั้นแล ธรรมิกอุบาสกพร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้มีพระปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์

อุบาสกผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตก็ดี
อุบาสกผู้ยังอยู่ครองเรือนอีกก็ดี
บรรดาสาวกทั้งสองพวกนี้
สาวกกระทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ

- ปฏิปทาของบรรพชิตเพื่อยังประโยชน์ให้สำเร็จ -

พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาเพื่อจะทรงแสดงปฏิปทาของบรรพชิตก่อน แล้วจึงตรัสพระคาถาว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรา เราจะยังเธอทั้งหลายให้ฟังธรรมอันกำจัดกิเลส และเธอทั้งปวงจงประพฤติธรรมอันกำจัดกิเลสนั้น

ภิกษุผู้มีปัญญาความคิด ผู้เห็นประโยชน์

พึงเสพอิริยาบถอันสมควรแก่บรรพชิตนั้น ภิกษุไม่พึงเที่ยวไปในเวลาวิกาล

ภิกษุพึงเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตในบ้านในกาล ด้วยว่าธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งหลายย่อมข้องภิกษุผู้เที่ยวไปในกาลอันไม่สมควรไว้ เพราะเหตุนั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมไม่เที่ยวไปในเวลาวิกาล

รูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะ ย่อมยังสัตว์ทั้งหลายให้มัวเมา ภิกษุนั้นกำจัดเสียแล้วซึ่งความพอใจในธรรมเหล่านี้

พึงเข้าไปยังโอกาสที่จะพึงบริโภคอาหารในเวลาเช้าโดยกาล อนึ่ง ภิกษุได้บิณฑบาตแล้วตามสมัย พึงกลับไปนั่งในที่สงัดแต่ผู้เดียว

ภิกษุผู้สงเคราะห์อัตภาพแล้ว คิดถึงขันธสันดานในภายใน ไม่พึงส่งใจไปในภายนอก

ถ้าแม้ว่าภิกษุนั้นพึงเจรจากับสาวกอื่น หรือกับภิกษุรูปไร ๆ ไซร้ ภิกษุนั้นพึงกล่าวธรรมอันประณีต ไม่พึงกล่าวคำส่อเสียด ทั้งไม่พึงกล่าวคำติเตียนผู้อื่น

ก็บุคคลบางพวกย่อมประถ้อยคำกันเราย่อมไม่สรรเสริญบุคคลเหล่านั้น ผู้มีปัญญาน้อย ความเกี่ยวข้องด้วยการวิวาท เกิดจากคลองแห่งคำนั้น ๆ ย่อมข้องบุคคลเหล่านั้นไว้ เพราะบุคคลเหล่านั้นส่งจิตไปในที่ไกลจากสมถะและวิปัสสนา

สาวกผู้มีปัญญาดี ฟังธรรมที่พระสุคตทรงแสดงแล้ว พิจารณาบิณฑบาต ที่อยู่ ที่นอน ที่นั่ง น้ำ และการซักมลทินผ้าสังฆาฏิแล้วพึงเสพ เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุไม่ติดแล้วในธรรมเหล่านี้ คือ บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง น้ำ และการซักมลทินผ้าสังฆาฏิ เหมือนหยาดน้ำไม่ติดในใบบัว ฉะนั้น

- ปฏิปทาของคฤหัสถ์เพื่อยังประโยชน์ให้สำเร็จ -

ก็เราจะบอกวัตรแห่งคฤหัสถ์แก่เธอทั้งหลาย สาวกกระทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ

จริงอยู่ สาวกที่มีความหวงแหน ไม่พึงจะได้ถูกต้องธรรมของภิกษุล้วน

สาวกวางอาชญาในสัตว์ทุกหมู่เหล่า ทั้งผู้ที่มั่นคงทั้งผู้ที่ยังสะดุ้งในโลกแล้ว

ไม่พึงฆ่าสัตว์เอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า และไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นฆ่า

สาวกรู้อยู่ พึงเว้นสิ่งที่เขาไม่ให้
ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นลัก ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นลัก
พึงเว้นวัตถุที่เจ้าของเขาไม่ให้ทั้งหมด

สาวกผู้รู้แจ้งพึงเว้นอพรหมจรรย์ เหมือนบุคคลเว้นหลุมถ่านเพลิงที่ไฟลุกโชน ฉะนั้น
แต่เมื่อไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ก็ไม่พึงก้าวล่วงภรรยาของผู้อื่น

ก็สาวกผู้อยู่ในที่ประชุมก็ดี อยู่ในท่ามกลางบริษัทก็ดี
ไม่พึงกล่าวเท็จแก่บุคคลผู้หนึ่ง ไม่พึงให้ผู้อื่นกล่าวคำเท็จ
ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นกล่าวเท็จ พึงเว้นคำไม่เป็นจริงทั้งหมด

สาวกผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่พึงดื่มน้ำเมา พึงชอบใจธรรมนี้
ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นดื่ม ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นดื่ม เพราะทราบชัดการดื่มน้ำเมานั้นว่า มีความเป็นบ้าเป็นที่สุด

คนพาลทั้งหลายย่อมกระทำบาปเอง และใช้คนอื่นผู้ประมาทแล้วให้กระทำบาป เพราะความเมานั่นเอง

สาวกพึงเว้นความเป็นบ้า ความหลงที่คนพาลใคร่แล้ว อันเป็นบ่อเกิดแห่งบาปนี้

ไม่พึงฆ่าสัตว์
ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้
ไม่พึงพูดมุสา
ไม่พึงดื่มน้ำเมา
พึงเว้นจากเมถุนธรรมอันเป็นความประพฤติไม่ประเสริฐ
ไม่พึงบริโภคโภชนะในเวลาวิกาลในราตรี
ไม่พึงทัดทรงดอกไม้และไม่พึงลูบไล้ของหอม
พึงนอนบนเตียงหรือบนพื้นดินที่เขาลาดแล้ว

บัณฑิตทั้งหลายกล่าวอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้ ว่าพระพุทธเจ้าผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ทรงประกาศไว้แล้ว

แต่นั้น สาวกผู้มีใจเลื่อมใส พึงเข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการให้บริบูรณ์ดี ตลอดวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ และตลอดปาฏิหาริยปักษ์

แต่นั้น สาวกผู้รู้แจ้งเข้าจำอุโบสถอยู่แต่เช้าแล้ว มีจิตเลื่อมใส ชื่นชมอยู่เนือง ๆ พึงแจกจ่ายภิกษุสงฆ์ด้วยข้าวและน้ำตามควร

พึงเลี้ยงมารดาและบิดาด้วยโภคสมบัติที่ได้มาโดยชอบธรรม

พึงประกอบการค้าขายอันชอบธรรม ไม่ประมาท

ประพฤติวัตรแห่งคฤหัสถ์นี้อยู่ ย่อมเข้าถึงเหล่าเทวดาชื่อว่าสยัมปภา ผู้มีรัศมีในตน

 

พระสูตร
ธรรมิกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อ ๓๓๓