Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ปล่อยวางขันธ์ ๕ สู่อรหัตตผล | อรหันตสูตรที่ ๑

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
ปล่อยวางขันธ์ ๕ สู่อรหัตตผล
อรหันตสูตรที่ ๑
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๕๒-๑๕๓

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 5:52 นาที
เวลาปฏิบัติ: 10 นาที

--------

ณ พระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
รูปไม่เที่ยง
เวทนาไม่เที่ยง
สัญญาไม่เที่ยง
สังขารไม่เที่ยง
วิญญาณไม่เที่ยง

สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นควรเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ทั้งในเวทนาทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด
เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว
ย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก กว่าสัตตาวาสและภวัคคภพ

พระอรหันต์ทั้งหลายมีความสุขหนอ
เพราะท่านไม่มีตัณหา
ตัดอัสมิมานะได้เด็ดขาด
ทำลายข่ายคือโมหะได้แล้ว
พระอรหันต์เหล่านั้นถึงซึ่งความไม่หวั่นไหว
มีจิตไม่ขุ่นมัว
ท่านเหล่านั้นไม่แปดเปื้อนแล้ว  
ด้วยเครื่องแปดเปื้อนคือตัณหาและทิฏฐิในโลก  
เป็นผู้ประเสริฐ ไม่มีอาสวะ
เป็นสัตบุรุษ เป็นพุทธบุตร เป็นพุทธโอรส
กำหนดรู้เบญจขันธ์มีสัทธรรม ๗ เป็นโคจร ควรสรรเสริญ.
ท่านมหาวีรบุรุษผู้สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ  
ศึกษาแล้วในไตรสิกขา
ละความกลัวและความขลาดได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมท่องเที่ยวไปโดยลำดับ

ท่านมหานาคผู้สมบูรณ์ด้วยองค์ ๑๐ ประการ  
มีจิตตั้งมั่น ประเสริฐสุดในโลก
ท่านเหล่านั้นไม่มีตัณหา มีอเสขญาณเกิดขึ้นแล้ว
มีร่างกายนี้เป็นครั้งสุดท้าย
ไม่ต้องอาศัยผู้อื่นในคุณที่เป็นแก่นสารแห่งพรหมจรรย์

ท่านเหล่านั้นไม่หวั่นไหวเพราะมานะ
หลุดพ้นจากภพใหม่ ถึงอรหัตภูมิแล้ว
ชนะเด็ดขาดแล้วในโลก

ท่านเหล่านั้นไม่มีความเพลิดเพลินอยู่ในส่วนเบื้องบน
ท่ามกลาง และเบื้องล่าง
เป็นพุทธผู้ยอดเยี่ยมในโลก ย่อมบันลือสีหนาท

 

พระสูตร
อรหันตสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๕๒-๑๕๓