Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ขันธ์ ๕ ชื่อว่าภาระ | ภารสูตร

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
ขันธ์ ๕ ชื่อว่า ภาระ
ภารสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๔๙-๕๓

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 4:47 นาที
เวลาปฏิบัติ: 12 นาที

--------

พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราจักแสดงภาระ
ผู้แบกภาระ
เครื่องถือมั่นภาระ
และเครื่องวางภาระ แก่เธอทั้งหลาย

เธอทั้งหลายจงฟัง  จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภาระเป็นไฉน

พึงกล่าวว่า ภาระ คือ อุปาทานขันธ์  ๕

อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน คือ

อุปาทานขันธ์ คือ รูป
อุปาทานขันธ์  คือ เวทนา
อุปาทานขันธ์ คือ สัญญา
อุปาทานขันธ์ คือ สังขาร
และอุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ

นี้เรียกว่าภาระ

ก็ผู้แบกภาระเป็นไฉน

พึงกล่าวว่าบุคคล บุคคล คือ ท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ นี้เรียกว่าผู้แบกภาระ

ก็เครื่องถือมั่นภาระเป็นไฉน

ตัณหานี้ใด นำให้เกิดภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มีปกติเพลิดเพลินยิ่งในภพหรืออารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นี้เรียกว่าเครื่องถือมั่นภาระ

ก็การวางภาระเป็นไฉน

ความที่ตัณหานั่นแลดับไปด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัย นี้เรียกว่าการวางภาระ

ขันธ์ ๕ ชื่อว่าภาระแล
และผู้แบกภาระคือบุคคล
เครื่องถือมั่นภาระเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ในโลก
การวางภาระเสียได้เป็นสุข
บุคคลวางภาระหนักเสียได้แล้ว ไม่ถือภาระอื่น

ถอนตัณหาพร้อมทั้งมูลรากแล้ว เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้วดังนี้

 

พระสูตร
ภารสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๔๙-๕๓