พิจารณาเห็นอุปาทานขันธ์ ๕ | สมนุปัสสนาสูตร
พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
พิจารณาเห็นอุปาทานขันธ์ ๕
สมนุปัสสนาสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๙๔
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดีโอ: 7:23 นาที
เวลาปฏิบัติ: 18 นาที
--------
ณ พระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเมื่อพิจารณาเห็น ย่อมพิจารณาเห็นตนเป็นหลายวิธี สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมพิจารณาเห็นอุปาทานขันธ์ ๕ หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง
อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ฯลฯ ไม่ได้รับการแนะนำในสัปปุริสธรรม
ย่อมตามเห็นรูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตน ๑
ย่อมตามเห็นตนมีรูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ ๑
ย่อมตามเห็นรูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ ในตน ๑
ย่อมตามเห็นตนในรูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ ๑
การตามเห็นด้วยประการดังนี้แล เป็นอันผู้นั้นยึดมั่นถือมั่นว่า เราเป็น
เมื่อผู้นั้น ยึดมั่นถือมั่นว่า เราเป็น ในกาลนั้นอินทรีย์ ๕ คือ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ ย่อมหยั่ง
ลง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนะมีอยู่ ธรรมทั้งหลายมีอยู่ อวิชชาธาตุมีอยู่
เมื่อปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว อันความเสวยอารมณ์ซึ่งเกิดจากอวิชชาสัมผัสถูกต้องแล้ว เขาย่อมมีความยึดมั่นถือมั่นว่า
เราเป็นดังนี้บ้าง
นี้เป็นเราดังนี้บ้าง
เราจักเป็นดังนี้บ้าง
จักไม่เป็นดังนี้บ้าง
จักมีรูปดังนี้บ้าง
จักไม่มีรูปดังนี้บ้าง
จักมีสัญญาดังนี้บ้าง
จักไม่มีสัญญาดังนี้บ้าง
จักมีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้ดังนี้บ้าง
ก็อินทรีย์ ๕ ย่อมตั้งอยู่เพราะการตามเห็นนั้นทีเดียว
เมื่อเป็นเช่นนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมละอวิชชาเสียได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น
เพราะความคลายไปแห่งอวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งวิชชา อริยสาวกนั้นย่อมไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในอินทรีย์เหล่านั้นว่า
เราเป็นดังนี้บ้าง นี้เป็นเราดังนี้บ้าง เราจักเป็นดังนี้บ้าง จักไม่เป็นดังนี้บ้าง จักมีรูปดังนี้บ้าง จักไม่มีรูปดังนี้บ้าง จักมีสัญญาดังนี้บ้าง จักไม่มีสัญญาดังนี้บ้างจักมีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้ดังนี้บ้าง