Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ผู้นำให้ถึงฝั่ง | จูฬโคปาลสูตร

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
ผู้นำให้ถึงฝั่ง
จูฬโคปาลสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๓๘๘-๓๙๑

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 13:04 นาที
เวลาปฏิบัติ: 18 นาที

--------------------

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เมืองอุกกเวลา แคว้นวัชชีพ ระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์กับภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว นายโคบาลชาวมคธ ปัญญาเขลา มิได้พิจารณาในสารทสมัยเดือนท้ายฤดูฝน มิได้พิจารณาฝั่งข้างนี้แห่งแม่น้ำคงคา ให้ฝูงโคข้ามไปสู่ฝั่งข้างโน้นซึ่งเป็นฝั่งเหนือแห่งหมู่ชนชาววิเทหรัฐโดยสถานที่มิใช่ท่าฝูง

โคว่ายไปเข้าวนในกระแสกลางแม่น้ำคงคา ถึงความพินาศในแม่น้ำนั้น

นั่นเป็นเพราะอะไร

เป็นเพราะนายโคบาลชาวมคธนั้น มีปัญญาเขลา

สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ที่ไม่ฉลาดในโลกนี้ ไม่ฉลาดในโลกหน้า ไม่ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นแก่งแห่งมาร ไม่ฉลาดในนวโลกุตรธรรมอันไม่เป็นแก่งแห่งมาร ไม่ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นแก่งแห่งมัจจุ ไม่ฉลาดในนวโลกุตรธรรมอันไม่เป็นแก่งแห่งมัจจุ

ชนเหล่าใด นับถือถ้อยคำของสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้นว่าเป็นถ้อยคำอันตนควรฟัง ควรเชื่อ ความนับถือของชนเหล่านั้น จักเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน ฉันนั้นนั่นแล

เรื่องเคยมีมาแล้ว นายโคบาลชาวมคธ มีปัญญา พิจารณาในสารทสมัย เดือนท้ายฤดูฝน พิจารณาฝั่งข้างนี้แห่งแม่น้ำคงคา ให้ฝูงโคข้ามไปสู่ฝั่งข้างโน้นซึ่งเป็นฝั่งเหนือแห่งหมู่ชนชาววิเทหรัฐโดยสถานที่เป็นท่า

นายโคบาลนั้นให้เหล่าโคที่เป็นพ่อฝูงนำฝูงข้ามไปก่อน โคเหล่านั้นว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคา ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดีต่อนั้น จึงให้เหล่าโคที่มีกำลังและโคที่ฝึกไว้ข้ามไป โคเหล่านั้นว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคา ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี

ต่อนั้น จึงให้เหล่าโคหนุ่มโคสาวข้ามไป โคเหล่านั้นว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคา ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี

ต่อนั้น จึงให้พวกลูกโคที่มีกำลังยังน้อยข้ามไป ลูกโคเหล่านั้นว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี

ลูกโคเล็กที่เกิดในวันนั้น ลอยไปตามเสียงโคเมียที่เป็นแม่ แม้ลูกโคนั้น ก็ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคา ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี

นั่นเป็นเพราะอะไร

เพราะนายโคบาลนั้นเป็นคนฉลาด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างนายโคบาลชาวมคธรัฐนั้นเป็นชาติมีปัญญา พิจารณาในสารทสมัย เดือนท้ายฤดูฝน พิจารณาฝั่งข้างนี้แห่งแม่น้ำคงคา ให้ฝูงโคข้ามไปสู่ฝั่งข้างโน้นโดยสถานที่เป็นท่า

สมณะหรือพราหมณ์ที่ฉลาดในโลกนี้ ฉลาดในโลกหน้า ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นแก่งแห่งมาร ฉลาดในนวโลกุตรธรรมอันไม่เป็นแก่งแห่งมาร ฉลาดในเตภูมิธรรมอันเป็นแก่งแห่งมัจจุ ฉลาดในนวโลกุตรธรรม อันไม่เป็นแก่งแห่งมัจจุ

ชนเหล่าใด นับถือถ้อยคำของสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้นว่า เป็นถ้อยคำอันตนควรฟัง ควรเชื่อ ความนับถือของชนเหล่านั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุขตลอดกาลนาน ฉันนั้นนั่นแล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่าโคผู้ที่เป็นพ่อฝูง เป็นผู้นำฝูง ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี แม้ฉันใด พวกภิกษุที่เป็นอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ตนถึงแล้ว มีกิเลสเครื่องประกอบไว้ในภพหมดสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ทั่วถึงโดยชอบ พวกภิกษุแม้นั้น ว่ายตัดกระแสมารขวางไป ถึงฝั่งแล้วโดยสวัสดี ฉันนั้นเหมือนกันเหล่า

โคที่มีกำลังและโคที่ฝึกไว้ ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี แม้ฉันใด พวกภิกษุที่มีสังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำ ๕ ประการทั้งหมดสิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในโลกนั้น ไม่ต้องเวียนกลับมาจากโลกนั้น แม้ภิกษุพวกนั้น ก็ชื่อว่าตัดกระแสมารขวางไป จักถึงฝั่งโดยสวัสดี ฉันนั้นเหมือนกัน

เหล่าโคหนุ่มและโคสาว ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี แม้ฉันใด พวกภิกษุที่มีสังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป และมีราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง เป็นสกทาคามีบุคคล มาสู่โลกนี้คราวเดียว ก็จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ภิกษุพวกนั้น ก็ชื่อว่าตัดกระแสมารขวางไป จักถึงฝั่งโดยสวัสดี ฉันนั้นเหมือนกัน

เหล่าลูกโคที่มีกำลังยังน้อย ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี แม้ฉันใด พวกภิกษุที่มีสังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป เป็นโสดาบัน มีความเป็นผู้ไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า แม้พวกภิกษุนั้น ก็ชื่อว่าตัดกระแสมารขวางไป จักถึงฝั่งโดยสวัสดี ฉันนั้นเหมือนกัน

ลูกโคเล็กที่เกิดในวันนั้น ลอยไปตามเสียงโคเมียที่เป็นแม่ ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี แม้ฉันใด พวกภิกษุที่เป็นมัคคสมังคีบุคคลชั้นต้น ที่เป็นธัมมานุสารี และที่เป็นสัทธานุสารี แม้พวกภิกษุนั้น ก็ชื่อว่าตัดกระแสมารขวางไป จักถึงฝั่งโดยสวัสดี ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เราแล เป็นผู้ฉลาดในโลกนี้ ฉลาดในโลกหน้า ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นแก่งแห่งมาร ฉลาดในนวโลกุตรธรรมอันไม่เป็นแก่งแห่งมาร ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นแก่งแห่งมัจจุ ฉลาดในนวโลกุตรธรรมอันไม่เป็นแก่งแห่งมัจจุ

ชนเหล่าใดจักนับถือถ้อยคำของเรานั้นว่า เป็นถ้อยคำอันตนควรฟัง ควรเชื่อ ความนับถือของชนเหล่านั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุขตลอดกาลนาน

โลกนี้และโลกหน้า เราผู้รู้อยู่ ประกาศดีแล้ว เราเป็นผู้ตรัสรู้เอง ทราบชัดซึ่งสรรพโลก ทั้งที่เป็นโลกอันมารถึงได้ ทั้งที่เป็นโลกอันมัจจุถึงไม่ได้ด้วยความรู้ยิ่ง จึงได้เปิดอริยมรรคอันเป็นประตูแห่งอมตะ เพื่อให้ถึงนิพพานอันเป็นแดนเกษม กระแสแห่งมารอันลามก เราตัดแล้วกำจัดแล้ว ทำให้ปราศจากความเหิมแล้ว

พวกเธอจงเป็นผู้มากด้วยความปราโมทย์ ปรารถนาถึงธรรมอันเป็นแดนเกษมเถิด

พระสูตร
จูฬโคปาลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๓๘๘-๓๙๑