Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

สิ่งที่ไม่ควรเชื่อ-สิ่งที่ควรเชื่อ (เต็ม) | เกสปุตตสูตร (กาลามสูตร)

สิ่งที่ไม่ควรเชื่อ-สิ่งที่ควรเชื่อ
เกสปุตตสูตร (กาลามสูตร)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๐ ข้อ ๕๐๕

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 17:44​ นาที
เวลาปฏิบัติ: 25 นาที

----------

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของพวกกาลามะชื่อว่า เกสปุตตะ

ชาวเกสปุตตนิคมได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม สมณพราหมณ์พวกนั้นพูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตัวเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ

มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม ถึงพราหมณ์พวกนั้น ก็พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตนเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า

พวกข้าพระองค์ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยในสมณพราหมณ์เหล่านั้นว่า ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลงสงสัย ท่านทั้งหลายเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในฐานะที่ควรแล้ว

มาเถิดท่านทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา
อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบ ๆ กันมา
อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินอย่างนี้
อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา
อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง
อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน
อย่าได้ยึดถือโดยความตรึกตามอาการ
อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว
อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้
อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา

เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล
ธรรมเหล่านี้มีโทษ
ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน
ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์
เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย

ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

ความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่เป็น
ประโยชน์

ก็บุคคลผู้โลภ ผู้โกรธ ผู้หลง
ถูกความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำ
มีจิตอันความโลภ ความโกรธ ความหลง กลุ้มรุมนี้
ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้
คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้

สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์
เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน
บุคคลผู้โลภ ผู้โกรธ ผู้หลง ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้

ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
มีโทษหรือไม่มีโทษ
ท่านผู้รู้ติเตียนหรือท่านผู้รู้สรรเสริญ
ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เพื่อทุกข์หรือหาไม่

ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

ความไม่โลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์

ก็บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
ไม่ถูกความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำ
มีจิตไม่ถูกความโลภ ความโกรธ ความหลงกลุ้มรุมนี้
ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์
ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ

สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน
บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น

ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
มีโทษหรือไม่มีโทษ
ท่านผู้รู้ติเตียนหรือท่านผู้รู้สรรเสริญ
ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขหรือหาไม่

เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ
ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ
ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข
เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่

อริยสาวกนั้น ปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง

มีใจประกอบด้วยเมตตา
มีใจประกอบด้วยกรุณา
มีใจประกอบด้วยมุทิตา
มีใจประกอบด้วยอุเบกขา
แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน
ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง
แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน
ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์
ด้วยใจอันประกอบด้วยกรุณาอันไพบูลย์
ด้วยใจอันประกอบด้วยมุทิตาอันไพบูลย์
ด้วยใจอันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์
ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้
มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้
มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้
ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการในปัจจุบันว่า

ถ้าปรโลกมีจริง ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วมีจริง เหตุนี้เป็นเครื่องให้เราเมื่อแตกกายตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑

ก็ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วไม่มี เราไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์เป็นสุข บริหารตนอยู่ในปัจจุบัน ๒

ก็ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ชื่อว่าทำบาป เราไม่ได้คิดความชั่วให้แก่ใคร ๆ ไหนเลยทุกข์จักมาถูกต้องเราผู้ไม่ได้ทำบาปกรรมเล่า ๓

ก็ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ไม่ชื่อว่าทำบาป เราก็ได้พิจารณาเห็นตนว่าเป็นคนบริสุทธิ์แล้วทั้งสองส่วน ๔

ดูกรกาลามชนทั้งหลาย
อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้
มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้
มีจิตไม่มีเศร้าหมองอย่างนี้

มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการนี้แลในปัจจุบัน