Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พิจารณาธรรม อุปาทานขันธ์ ๕ | ปุณณมสูตร

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
พิจารณาธรรม
อุปาทานขันธ์ ๕
ปุณณมสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๘๒-๑๙๒

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 17:47 นาที
เวลาปฏิบัติ: 25 นาที

----------

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ มิคารมาตุปราสาท ในพระวิหารบุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก

ก็ในสมัยนั้นแล ในคืนวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันเพ็ญ มีพระจันทร์เต็มดวง พระผู้มีพระภาค อันภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมแล้ว ประทับนั่งอยู่ในที่แจ้ง

ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งลุกจากอาสนะ ทำผ้าอุตตราสงฆ์เฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้วประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะพึงทูลถามเหตุประการหนึ่งกับพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอกาส ที่จะพยากรณ์ปัญหาแก่ข้าพระองค์

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกรภิกษุ ถ้าเช่นนั้นเธอจงนั่ง ณ อาสนะของตนแล้ว ถามปัญหาที่เธอมุ่งจำนงเถิด

ภิกษุนั้นนั่ง ณ อาสนะของตน ทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคว่า

อุปาทานขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ใช่ไหม

อุปาทานขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

อุปาทานขันธ์ ๕ มีอะไรเป็นมูลเหตุ

อุปาทานขันธ์ ๕ มีฉันทะเป็นมูลเหตุ

อุปาทานก็อันนั้น อุปาทานขันธ์ ๕ ก็อันนั้น หรือว่าอุปาทานเป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕

อุปาทานก็อันนั้น และอุปาทานขันธ์ ๕ ก็อันนั้น หามิได้ และอุปาทานอื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ ก็หามิได้ แต่ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านั้นเป็นตัวอุปาทาน

ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ แตกต่างกันหรือ

ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ แตกต่างกัน

บุคคลบางคนในโลกนี้ มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในอนาคตกาล ขอเราพึงมีรูปเช่นนี้ พึงมีเวทนาเช่นนี้ พึงมีสัญญาเช่นนี้ พึงมีสังขารเช่นนี้ พึงมีวิญญาณเช่นนี้ ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ ต่างกันด้วยประการฉะนี้

ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ขันธ์ จึงชื่อว่า ขันธ์

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็น ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี นี้เรียกว่ารูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ ขันธ์จึงชื่อว่าขันธ์

อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ปรากฏ

มหาภูตรูป ๔ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์ปรากฏ

ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ปรากฏ

นามรูป เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์ปรากฏ

สักกายทิฏฐิมีได้อย่างไร

ปุถุชนในโลกนี้
ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน
ย่อมเห็นตนมีรูป
ย่อมเห็นรูปในตน
ย่อมเห็นตนในรูป

ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นตน
ย่อมเห็นตนมีเวทนา
ย่อมเห็นเวทนาในตน
ย่อมเห็นตนในเวทนา

ย่อมเห็นสัญญาโดยความเป็นตน
ย่อมเห็นตนมีสัญญา
ย่อมเห็นสัญญาในตน
ย่อมเห็นตนในสัญญา

ย่อมเห็นสังขารโดยความเป็นตน
ย่อมเห็นตนมีสังขาร
ย่อมเห็นสังขารในตน
ย่อมเห็นตนในสังขาร

ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน
ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ
ย่อมเห็นวิญญาณในตน
ย่อมเห็นตนในวิญญาณ

สักกายทิฏฐิมีได้ด้วยอาการเช่นนี้

สักกายทิฏฐิย่อมไม่มีได้อย่างไร

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
ย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นตน
ไม่เห็นตนมีรูป
ไม่เห็นรูปในตน
ไม่เห็นตนในรูป

ย่อมไม่เห็นเวทนาโดยความเป็นตน
ไม่เห็นตนมีเวทนา
ไม่เห็นเวทนาในตน
ไม่เห็นตนในเวทนา

ย่อมไม่เห็นสัญญาโดยความเป็นตน
ไม่เห็นตนมีสัญญา
ไม่เห็นสัญญาในตน
ไม่เห็นตนในสัญญา

ย่อมไม่เห็นสังขารโดยความเป็นตน
ไม่เห็นตนมีสังขาร
ไม่เห็นสังขารในตน
ไม่เห็นตนในสังขาร  

ย่อมไม่เห็นวิญญาณโดยความเป็นตน
ไม่เห็นตนมีวิญญาณ
ไม่เห็นวิญญาณในตน
ไม่เห็นตนในวิญญาณ

สักกายทิฏฐิ ย่อมไม่มีด้วยอาการเช่นนี้

อะไรเป็นคุณ เป็นโทษ เป็นเครื่องสลัดออก แห่งรูป แห่งเวทนา แห่งสัญญา แห่งสังขาร แห่งวิญญาณ

สุขโสมนัส อาศัยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเสียได้ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้และในสรรพนิมิตภายนอก

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตากระทำ จักถูกต้องอัตตาคือกรรมได้อย่างไร

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวของตัวเรา

เพราะเหตุนั้นแล อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด
เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว
ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

 

 

 

พระสูตร
ปุณณมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๘๒-๑๙๒